ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค ใน สนช. เสนอ องค์การอิสระควรมีอำนาจฟ้องคดีได้เองเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นส่วนรวม
วันที่ 23 ธันวาคม 2557 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ หมายเลข 309 อาคารรัฐสภา 2 น.ส. บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค อ.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าไปชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ชี้แจงว่า "ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังมีจุดอ่อนอยู่มากยกตัวอย่าง เช่น คดีซอยร่วมฤดี ที่เห็นได้ชัดว่าหน่วยงานรัฐละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้มีการสร้างตึกอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่คดีผู้บริโภค แต่เป็นคดีปกครอง ในกรณีเช่นนี้ หน่วยงานของรัฐจะดำเนินคดีแทนผู้บริโภคเพื่อฟ้องหน่วยงานรัฐกันเองไม่ได้ ผู้บริโภคจึงต้องมาพึ่งพามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการฟ้องหน่วยงานรัฐคือกรุงเทพมหานคร และกรณีรถยนต์ที่มีปัญหาท่อไอเสียที่เคยพบว่ามีคาร์บอนมอนอกไซด์ปริมาณมากในรถ ทำให้ผู้ใช้รถมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ซึ่งตนได้ไปเป็นพยานในศาลคดีนี้ ศาลได้ตัดสินให้ผู้บริโภคชนะคดี และเห็นว่าหากคดีใดที่ศาลพิพากษาแล้ว หน่วยงานรัฐควรมีมาตรการออกมาควบคุมด้วย"
หน่วยงานที่สนับสนุนกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย ศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด โดยตัวแทนศาลยุติธรรมให้ความเห็นว่า "ในปัจจุบัน มีผู้บริโภคใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีผู้บริโภคมากขึ้น ในเรื่องการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ทางศาลเองก็อยู่ในระหว่างการปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ในส่วนกฎหมายองค์การอิสระเขียนไว้ให้องค์การอิสระดำเนินคดีในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นส่วนรวมเท่านั้น ดังนั้น ควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดว่าคดีลักษณะเช่นใดบ้างที่เป็นคดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นการส่วนรวม และเห็นว่าการมีองค์การอิสระ หลักการน่าจะเป็นเรื่องของการช่วยกันทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานรัฐ และสิ่งสำคัญอยากให้คิดในเรื่องของเชิงป้องกัน มากกว่าการเยียวยาหลังเกิดความเสียหาย โดยกฎหมายจะปรับปรุงนี้ อาจกำหนดให้องค์การอิสระ หรือแม้กระทั่งอัยการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ แต่จำกัดเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะเท่านั้น"
ด้านตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ในเรื่องการฟ้องคดีขององค์การอิสระ ไม่ควรกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินแทน เนื่องจาก อัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานรัฐ จะทำให้การปฏิบัติงานขององค์การอิสระไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเป็นองค์การอิสระ รวมถึงในกฎหมายไม่ได้เขียนว่า หากจะให้อัยการสูงสุดดำเนินคดี ใครเป็นผู้ทำหน้าที่ในการสอบสวนคดี และในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนั้น เมื่อพิจารณาถึงตัวกฎหมายองค์การอิสระ ก็ไม่ได้กำหนดให้องค์การอิสระ ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ ซึ่งต่างจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 19 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ อีกเรื่องคือ หากอัยการสูงสุดเห็นว่าความเห็นเรื่องการเรียกทรัพย์สินไม่ถูกต้องควรพิจารณาใหม่ ก็จะเป็นลักษณะที่อัยการแทรกแซงองค์การอิสระ ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น จึงเสนอว่าควรปรับแก้ให้องค์การอิสระฟ้องคดีเอง โดยไม่ต้องผ่านทางอัยการสูงสุด"
หน่วยงานที่คัดค้าน อ้างการซ้ำซ้อนของกฎหมาย อาทิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้ความเห็นในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์การอิสระ เกี่ยวกับการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ และให้หน่วยงานรัฐรายงานผลการพิจารณาและดำเนินการต่อคณะกรรมการ ซึ่งเห็นว่าทาง อย. มีระเบียบกำหนดให้ มีการส่งรายงานการจัดการเรื่องร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) อยู่แล้ว ดังนั้น หน้าที่ดังกล่าวขององค์การอิสระในส่วนนี้ อาจมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐเดิมที่มีอยู่
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า "เห็นด้วยว่าองค์การอิสระฯ ควรทำหน้าที่ฟ้องคดีได้เอง โดยไม่ต้องผ่านทางอัยการสูงสุด และในบางกรณีเช่น การขึ้นค่าทางด่วน ซึ่งอัยการเป็นผู้เห็นชอบสัญญาค่าผ่านทาง หากองค์การอิสระจะส่งอัยการฟ้องเรื่องการขึ้นค่าผ่าทางละเมิดสิทธิผู้บริโภค ก็ต้องฟ้องอัยการเอง ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหาว่าอัยการจะฟ้องกันเองได้อย่างไร จึงเห็นว่า ควรให้องค์การอิสระมีสิทธิฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง"
ซึ่งประธานอนุกรรมาธิการ ได้แจ้งว่า "ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อว่าจะมีเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดไว้แน่นอน และขอฝากไปทางคุณบุญยืน ช่วยผลักดันผ่านทางสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อให้กฎหมายนี้ได้ผ่านเร็วขึ้น และทางตนเองก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งที่ถูกละเมิดสิทธิอยู่ จึงสนับสนุนให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว "
การประชุมครั้งนี้ ทางอนุกรรมาธิการฯ ได้มีการเชิญหน่วยงานที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค เข้าร่วมชี้แจงด้วย โดยสาระสำคัญที่อนุกรรมาธิการขอความเห็น คือ อยากให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงอำนาจหน้าที่และข้อมูลสถิติการรับเรื่องร้องเรียนของตนเอง รวมถึงให้ความเห็นต่อกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ.) รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ( บก.ปคบ. ) ศาลยุติธรรม และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด