ธปท.ส่งหนังสือเวียนคุมเข้มแบงก์รัฐขายประกันพ่วงผลิตภัณฑ์การเงินอื่น โดยกำหนดให้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคและชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจถึงรูปแบบประกันโดยละเอียด
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนลงวันที่ 27 ก.พ.2560 ถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเรื่องการขายผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยหรือผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายการประกันภัย โดยขอให้ปฏฺิบัติงานเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
รวมทั้งขอให้ธนาคารคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค คือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง มีอิสะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน และสิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม รวมถึงได้รับค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย
ขณะเดียวกัน ต้องชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจว่าประกันชีวิตหรือผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายการประกันชีวิต แตกต่างจากเงินฝากทั่วไป,การเสนอขายประกันภัย ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถของลูกค้า ทั้งเรื่องการชำระค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคต รวมทั้งต้องชี้แจงถึงข้อมูลผลประโยชน์และเงื่อนไขที่อาจทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์ โดยเฉพาะลักษณะที่แตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ประกันกับเงินฝาก ที่สำคัญต้องไม่บังคับขายควบคู่กับเงินฝากหรือสินเชื่อ ขณะที่พนักงานขายต้องมีใบอนุญาต
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่าได้รับหนังสือเวียนจากธปท.แล้ว ปัจจุบันธนาคารได้รับใบอนุญาตขายประกันจากสำนักงาน คปภ.และที่ผ่านมา ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบการเสนอขายประกันอยู่ 2 แบบ คือ การประกันวินาศภัย และ การประกันแบบสงเคราะห์ชีวิต ซึ่งทั้งสองรูปแบบนั้น ไม่ได้เป็นการขายพ่วงหรือบังคับขาย
กรณีการขายประกันอัคคีภัย เป็นการขายเพื่อคุ้มครองหลักประกันเมื่อลูกค้าขอสินเชื่อ ถือเป็นเรื่องปกติเพื่อคุ้มครองหลักประกัน ส่วนการทำประกันสงเคราะห์ชีวิต ก็ไม่ได้เป็นการขายพ่วงผลิตภัณฑ์อื่นหรือบังคับขาย แต่ขณะนี้ได้สั่งให้ชะลอเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่าเงินฝากโดยทั่วไป
“บางช่วง ต้นทุนเงินฝากสูง 7-10% เราก็ส่งเสริมให้ขายประกันสงเคราะห์ชีวิตที่มีรูปแบบคล้ายเงินฝาก เพราะต้นทุนต่ำกว่าเงินฝาก แต่ตอนนี้ การหาเงินฝากต้นทุนถูกกว่า เราจึงสั่งการให้ชะลอการขายประกันสงเคราะห์ชีวิต”
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าวว่า ธปท.ได้เคยสอบถามมายังธนาคารถึงรูปแบบการขายประกันของธนาคารว่า มีรูปแบบใดบ้าง ซึ่งธนาคารก็ได้ชี้แจงให้เข้าใจถึงรูปแบบการขายประกันของธนาคารเป็นที่เข้าใจแล้วว่า ไม่ขัดต่อกติกาที่ คปภ.หรือธปท.กำหนด โดยการส่งหนังสือเวียนดังกล่าว ก็เพื่อให้ธนาคารรัฐปฏิบัติเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์
ธอส.มีรูปแบบการทำประกัน 2 รูปแบบ คือ การทำประกันวินาศภัย เป็นการทำประกันที่ลูกค้าต้องซื้อเพื่อคุ้มครองหลักประกันของลูกค้า ส่วนการทำประกันภัยกลุ่มคุ้มนิรันดร์นั้น เป็นการทำโดยสมัครใจของลูกค้า ไม่ได้บังคับขายหรือขายพ่วงผลิตภัณฑ์อื่น
ด้านนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธ.ก.ส.กล่าวว่า ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ประกันอยู่ 3 รูปแบบ คือ1. ประกันวินาศภัย ซึ่งจะให้ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรได้ทำประกันชนิดนี้ เพื่อคุ้มครองหลักประกันผ่านการให้คำแนะนำ ไม่ใช่ลักษณะการขายพ่วง
2.การประกันในลักษณะเงินฝากสงเคราะห์ชีวิต ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการทำประกัน โดยมีกฎหมายของธนาคารรองรับ แต่ทำภายใต้กติกาของคปภ.และธปท.ซึ่งเป็นการส่งเสริมเกษตรกรและครอบครัวได้ออมเงินแบบคุ้มครองความเสี่ยง แต่ไม่ได้บังคับให้ทุกรายต้องมาทำประกันปัจจุบันมีลูกค้าราว 1 ล้านราย และ3.การทำประกันภัยพืชผล ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาภัยพิบัติต่างๆ
ภาพและข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ