สคบ.ห้ามบัตรเครดิตรีดค่าต๋ง

สคบ.จ้องรื้อสัญญาธุรกิจบัตรเครดิตไม่เป็นธรรม รูดซื้อของถูกร้านค้าชาร์จค่าธรรมเนียม 3-5% แถมหักเงินบัญชีเงินฝากไม่แจ้ง

นายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สคบ.อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในการให้บริการธุรกิจบัตรเครดิต หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีที่ร้านค้าคิดค่าธรรมเนียมการรูดซื้อสินค้า 3-5%

เนื่องจากในสัญญาที่ลูกค้าทำกับสถาบันการเงิน หรือบริษัทผู้ออกบัตรเครดิตกล่าวว่า ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าโดยปลอดดอกเบี้ย 30-45 วัน ดังนั้นการเก็บเงินดังกล่าวจึงเป็นการแอบแฝงคิดค่ารูดใช้บัตร

นอกจากนั้น ยังต้องแก้ไขกรณีที่บัตรเครดิตหักเงินจากบัญชีเงินฝาก หากลูกหนี้มีการค้างชำระทั้งที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง รวมทั้งกรณีที่ผู้บริโภคแจ้งบัตรเครดิตหายและต้องการระงับการใช้บริการ ซึ่งในสัญญาระบุจะใช้เวลาในการระงับ 5-10 นาที ทั้งที่ควรระงับทันทีที่เจ้าของบัตรแจ้ง เพราะเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ สคบ.ยังพบความไม่ชัดเจนในการคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งสถาบันการเงินควรจะมีการระบุในสัญญาให้ชัดเจน ไม่ใช่เขียนว่าการเปลี่ยนแปลงใดขึ้นอยู่กับบริษัท

นายนิโรธ กล่าวว่า สคบ.จะเชิญสมาคมธนาคารไทยและผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตมาชี้แจง และรวบรวมปัญหาเกี่ยวกับบัตรเครดิตเพื่อนำมาปรับปรุงประกาศธุรกิจบัตรเครดิต ให้เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา

สคบ.ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ลงนามความร่วมมือในการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการบัตร เครดิต จากผลการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 305 ราย พบว่าผู้ใช้บัตรไม่สะดวกในการติดต่อผ่านระบบอัตโนมัติ การนำข้อมูลไปขายให้บุคคลที่ 3 พนักงานขายบัตรน่ารำคาญ มีการให้ข้อมูลไม่เพียงพอ รายละเอียดสัญญาไม่ชัดเจน และการคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงเกินไป

ขณะเดียวกันประชาชนยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมมากขึ้น

ดังนั้น สคบ.ยังลงนามความร่วมมือจากภาคีที่เกี่ยวข้อง คือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต 22 ราย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่จะแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการใช้บริการบัตรเครดิต

ปัจจุบันมีบัตรเครดิตที่ออกใช้ 13.7 ล้านใบ แบ่งเป็นการออกโดยธนาคารพาณิชย์ 5.4 ล้านใบ สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทย 1.38 ล้านใบ และบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงิน 6.8 ล้านใบ

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 20/10/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน