ลูกหนี้เฮ สคบ.สั่งแก้ไขสัญญาบัตรเครดิตใหม่

เมื่อวานนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยเรื่องที่หารือกันมีการนำเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ได้ทำสัญญาเอาเปรียบผู้บริโภค โดยขอหักเงินในบัญชีของผู้ฝากเงินเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตได้ในทันที

ทั้งนี้ สคบ.เห็นว่าการทำสัญญาเช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญาที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เนื่องจากการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตอาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น บัตรสูญหาย บัตรถูกลักขโมย ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ความรับผิด

นอกจากนี้ เป็นการใช้ข้อสัญญาที่เลี่ยงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ไปใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดเสียก่อน ซึ่งอาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540

อย่างไรก็ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 4 ได้ กำหนดว่า สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญา ที่มีลักษณะหรือความหมายทำนองเดียวกัน ได้แก่ ข้อสัญญาที่ให้ ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบจากการใช้บัตรเครดิตโดยที่ไม่ได้เป็นความผิดของผู้บริโภค

ดังนั้น สคบ.จึงได้มอบหมาย ให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาไปเสนอความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาใหม่จากการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และนำเสนอคณะกรรมการสคบ. ประกาศเป็นนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครอง ผู้บริโภคต่อไป

“5 เดือนของปีนี้ มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิตจำนวน 217 ราย เป็นสาเหตุกรณีหักเงินจากบัญชี 7 ราย ซึ่งสคบ. ได้ส่งเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ร้องเรียนแล้ว” นายสาทิตย์ กล่าว

คณะกรรมการสคบ. ยังได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค กรณี ผู้ประกอบการเสนอหรือชักชวนขายสินค้าหรือบริการผ่านทางโทรศัพท์ หรือผ่านการส่งข้อความระบบ SMS จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำกับ ติดตาม และตรวจสอบ การประกอบธุรกิจประกันภัยของ ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยอย่างเคร่งครัด โดยมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในระบบสายด่วน ประชาสัมพันธ์ให้ ผู้บริโภคระมัดระวังการให้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ทำงานในเวลาที่ทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันการซื้อขายหรือเปลี่ยนถ่ายข้อมูล รวมทั้งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อันถือเป็นความผิด ทั้งทางแพ่งและทางอาญาด้วย

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 9-06-52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน