บริการสุขภาพ

แนะบอร์ดสปสช.เดินหน้าอีกขั้น ถอดสสจ.จากอปสข. แยกบทบาทผู้ซื้อ-ผู้ให้บริการให้ชัดเจน

“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” เสนอบอร์ดสปสช. ถอด สสจ.ออกจาก อปสข. แนะแยกบทบาทชัดเจนอีกขั้น หลังยกเลิกสสจ.ไม่ให้เป็นสปสช.สาขาจังหวัดแล้ว

ชี้เป็นการแยกผู้ซื้อ-ผู้ให้บริการ ตามหลักการ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามทิศทางปฏิรูประบบสุขภาพ เผยวาระประชุมอปสข.ส่วนใหญ่เน้นจัดสรรงบ ทำงานพัฒนาบริการสุขภาพประชาชนไม่เดินหน้า พร้อมแนะ สธ.ควรตั้ง คกก.กลางระดับเขตพื้นที่ด้านฝ่ายผู้ให้บริการ เปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม

 

 


ในช่วงที่กระแสการปฏิรูปประเทศกำลังเดินหน้า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรง การปฏิรูประบบสุขภาพและรักษาพยาบาลเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้น และที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้การนำของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะโดดขึ้นเป็นหัวหอกในเรื่องนี้ และได้มีการจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมด้วยการแบ่งเขตบริการสุขภาพออกเป็น 12 เขต ที่เป็นการรวมศูนย์การจัดการหน่วยบริการในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการบริหารและช่วยเพิ่มศักยภาพหน่วยบริการระดับต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น รพ.ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ภายใต้งบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

แต่แนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพข้างต้นนี้ สวนทางกับทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพที่ดำเนินการโดย “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (สปสช.) ที่เน้นการมุ่งกระจายอำนาจและโอนงบประมาณไปยังหน่วยบริการโดยตรง มีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) ที่มีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดหาบริการสุขภาพเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการติดตามภารกิจและนโยบายของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพว่าควรที่จะดำเนินไปในทิศทางใด และควรมีรูปแบบอย่างไรที่จะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในด้านการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง

 



น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
 


น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มองว่า การจัดแบ่งเขตบริการสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นของทาง สธ. และ สปสช. ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้เดินหน้า 12 เขตบริการสุขภาพ บวก กทม.อยู่ก่อนแล้ว ถือว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น ซึ่งก่อนหน้านี้การแบ่งเขตบริการขึ้นอยู่แต่ละกรมในสังกัด สธ. จะทำการจัดแบ่งเขตกันเอง ทำให้เขตบริการสุขภาพของ สธ.มีหลายประเภทและมีปัญหาทับซ้อนพื้นที่กันอยู่ ซึ่งภายหลังมีแนวคิดการแบ่งเขตบริการสุขภาพในภาพรวมโดยสำนักงานปลัด สธ.ขึ้น เป็นการแบ่งเขตที่สะท้อนภาพชัดเจนในฐานะผู้ให้บริการ ซึ่งนอกจากทำให้ทราบถึงทรัพยากรในแต่ละเขตพื้นที่แล้ว ยังช่วยการบริหารจัดการ อย่างการเกลี่ยงบประมาณ และการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยภายในเขต เป็นต้น ถือเป็นทิศทางที่ดีทำให้ภาพระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการมีความชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ในการจัดทำเขตบริการสุขภาพ ทั้งในฝ่ายผู้ซื้อและผู้ให้บริการนั้น จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางระดับเขตพื้นที่ขึ้นของแต่ละฝ่ายขึ้น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาในส่วน สปสช.มีคณะกรรมการกลางระดับเขต คือ อปสข. ที่ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนในการจัดซื้อบริการสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากฝ่ายผู้ให้บริการ ท้องถิ่น และภาคประชาชนเข้าร่วม แต่ในส่วนคณะกรรมการกลางระดับเขตพื้นที่ของฝ่ายผู้ให้บริการ หรือของ สธ.นั้น ยังไม่เกิดขึ้น โดยยังคงเป็นการบริหารระดับเขตพื้นที่เฉพาะภายใน สธ.เท่านั้น ดังนั้นที่ผ่านมาตัวแทนภาคประชาชนจึงเข้ามีส่วนร่วมเฉพาะคณะกรรมการกลางฝ่ายผู้ซื้อบริการหรือ อปสข.ของทาง สปสช.เท่านั้น แต่คณะกรรมการกลางเขตพื้นที่ของฝ่ายผู้ให้บริการยังไม่มี จึงน่าที่จะมีการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้มีการแยกชัดเจนระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการ พร้อมกับการมีส่วนร่วม

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า แม้ว่าในฝ่ายผู้ซื้อบริการระดับเขตจะมี อปสข.ทำหน้าที่คณะกรรมการกลาง แต่ที่ผ่านมาพบว่า องค์ประกอบของกรรมการ อปสข.กลับมีสัดส่วนฝ่ายผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการแบบครึ่งๆ ทั้งที่ควรเป็นบอร์ดของฝ่ายผู้ซื้อ โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ผอ.รพ.) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)ในเขตพื้นที่ทั้งหมดร่วมเป็นกรรมการ ทำให้วาระประชุมส่วนใหญ่จึงเน้นความสำคัญการเจรจาตกลงงบประมาณ ขณะที่การพัฒนางานบริการสุขภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนกลับมีการพูดกันน้อยมาก ดังนั้นเมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีการแบ่งเขตบริการสุขภาพแล้ว ควรมีการตั้งคณะกรรมการกลางเขตพื้นที่ในส่วนฝ่ายผู้ให้บริการขึ้น เพื่อให้เกิดการแยกบทบาททำงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการอย่างชัดเจน โดยเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทั้ง 2 บอร์ด

“ตามหลักการ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือต้องแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการชัดเจน ดังนั้นจึงควรแยกคณะกรรมการกลางระดับเขตพื้นที่เป็นฝ่ายผู้ซื้อและผู้ให้บริการเช่นกัน ซึ่งในส่วน อปสข.ต้องไม่มีทางฝ่ายผู้ให้บริการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกับคณะกรรมการกลางในส่วนผู้ให้บริการ อาจมีเพียงตัวแทนได้ เพราะหน้าที่ อปสข.ต้องทำหน้าที่ออกแบบจัดซื้อบริการสุขภาพ ดูว่าปีนี้พื้นที่มีปัญหาสุขภาพอะไร ประชาชนต้องการแบบไหน ขณะที่คณะกรรมการกลางของฝ่ายผู้ให้บริการ จะพิจารณาว่าจะจัดสรรอย่างไรเพื่อให้สามารถบริการได้ เรียกว่าเป็นการเจรจาต่อรองระหว่างคณะกรรมการ และต่างสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

สำหรับข้อเสนอที่ให้ถอนฝ่ายผู้ให้บริการ ผอ.รพ. และ สสจ.ออกจาก อปสข. นั้น น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวยอมรับว่า ในช่วงแรกอาจมีแรงเสียดทานอยู่บ้าง เพราะพึ่งมีการยกเลิก สสจ.ทำหน้าที่ สปสช.สาขาจังหวัด แต่ไหนๆ จะแยกระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการแล้ว ถือเป็นจังหวะก็ควรแยกให้เบ็ดเสร็จไปเลยทั้งระบบ ซึ่งไม่แต่เฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ให้รวมถึงระบบประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ยังไม่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ได้เสนอในเวทีรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเวทีประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา
 

ที่มา : Mon, 2014-05-12 16:06 -- hfocus

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน