บริการสุขภาพ

นักวิชาการห่วงอนาคตสังคมไทยแก่-ป่วย-จน หากระบบปฏิรูปอ่อนแอ

590530 news
นักวิชาการห่วงอนาคตสังคมไทยแก่-ป่วย-จน หากระบบปฏิรูปอ่อนแอ ชี้รัฐต้องปรับตัวหนุนประชาสังคม สร้างระบบคู่ขนาน อย่าตัดตอนระบบปฏิรูปสุขภาพ หวั่นส่งผลเสียต่อประชาชนโดยรวม

วันนี้ (30 พ.ค. 59) เวลา 10.00 น. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสุขภาพ จัดเวทีอภิปราย “นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพไทยในยุคปฏิรูป” ที่จุฬาฯ

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ระบบสุขภาพในอนาคตมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องของภาระต้นทุน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากเชื้อโรค และนั่นจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับการลดภาระ หากมีการเสริมสร้างสุขภาพ ด้วยเหตุที่ว่าสุขภาพดี สามารถทำงานได้จนถึงวัย 60 ปี แต่หากสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย ก็จะมีการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องของผลิตภาพทางการผลิตของสังคมไทย ฉะนั้นการลงทุนสร้างเสริมสุขภาพดีในวัยทำงาน ควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก

ดร.เดชรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ คือ ต้นทุน โดยที่คนอาจจะมองว่า เงินส่วนใหญ่ในการทำงานด้านนี้อยู่ที่ สสส. แต่ความจริงแล้วเงินตรงนี้มีแค่ประมาณ 10% ส่วนที่เหลืออยู่ที่ระบบราชการเป็นหลักทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. ทั้งนี้ จะทำอย่างไรให้ได้มีโอกาสไปสู่การลงทุนที่เกิดผลอย่างแท้จริงจากทั้ง 2 ส่วนนี้ ซึ่งมันต้องนำไปสู่การประเมินผลและสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

“ต้องตั้งคำถามประสิทธิภาพกลไกที่มีอยู่เดิมว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด มิเช่นนั้นสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมแก่-ป่วย-จน ถ้าเราไม่ฟื้นหรือปฏิรูประบบสุขภาพ เราจะไปไม่ถึงไหนในอนาคต ทั้งที่เราควรไปในทิศทางสู่สังคมแก่-เข้าใจ-สร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดจะไปถึงได้ล้วนเป็นปัจจัยภายในที่รัฐต้องหันมาทบทวนเป็นเบื้องต้น” ดร.เดชรัตน์ กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การใช้มาตรการเฉพาะหรือภาษีบาป ประเด็นที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศยุโรป ซึ่งการเก็บภาษีเฉพาะทางนี้สามารถนำไปสู่มาตรการปฏิรูปการจัดการปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน เช่น การเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ลดการใช้สารเคมี ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสารเคมีตกค้างในอาหารอย่างเห็นได้ชัด

“เราควรพิจารณาการขยายการใช้ภาษีเฉพาะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ใช่ลดลง โดยมองไปที่ประสิทธิภาพดำเนินการของกลไกเกี่ยวข้อง เช่น กรณีกลไกการปฏิรูปสำคัญของประเทศ เช่น สปสช. และ สสส.นั้นหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นเป็นแบบอย่างในการปฏิรูปสุขภาพได้จริง ซึ่งรัฐไม่ควรลดทอน หรือตัดตอนระบบปฏิรูปสุขภาพเสียเอง เพราะเมื่อใดที่มีการสกัดกั้นลดทอนการเก็บภาษีเฉพาะ สุดท้ายแล้วจะสร้างผลกระทบต่อกลไกปฏิรูปในอนาคต ซึ่งกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพแบบ สสส. หรือกลไกการทำงานของภาคประชาสังคมนั้นมีความจำเป็นสำหรับการปฏิรูปประเทศคู่ขนานไปกับการดำเนินการของภาครัฐ ให้หนุนเสริมกันอย่างมีพลัง” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ สสส. ก็ต้องปรับปรุงตัวเองและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น เปิดโอกาสให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน ทั้งในกระบวนการประเมินผลหรือกระบวนการสนับสนุน การกำหนดเป้าหมาย กระจายการทำงานไปสู่ภูมิภาคหรือพื้นที่มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ โดยควรตั้งเป้าหมายงานมุ่งไปสู่ชาวบ้านคนด้อยโอกาสเพิ่มมากขึ้นกว่านี้

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธรกิจ เลขาการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เขาเริ่มทำงานควบคุมบุหรี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 โดยที่ขณะนั้นยังไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน และพยายามเสนอรัฐบาลให้ปรับขึ้นภาษีบุหรี่มาโดยตลอด จนสุดท้ายสามารถผลักดันการนำเงินจากภาษีเหล้าบุหรี่มาตั้งเป็นองค์กรสุขภาพ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งภารกิจและโจทย์ของ สสส.คือ การทำงานก่อนที่คนจะป่วย โดยเฉพาะปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาพมากที่สุดคือพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของคน หากไม่แก้ที่พฤติกรรม จะทำให้คนเจ็บป่วยเข้าสู่ระบบบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันต้องแก้ที่ระบบสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย สร้างสังคมให้ชุมชนเข้มแข็ง

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ถอดบทเรียนจาก 9 ประเทศใน 6 ภูมิภาคระบุว่า สสส.ของไทยมีนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่น คือ มีโครงสร้างการบริหารงบประมาณที่เป็นอิสระและมีการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพหลากหลายมิติ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศสมาชิกของ WHO ในการนำแนวทางภาษีนี้ไปใช้พัฒนาประเทศ

“การบริหารงานด้านสุขภาพถือว่ามาถูกทาง ดังนั้นหากจะปรับเปลี่ยนอะไรต้องคิดให้รอบคอบ โดยเฉพาะหลักการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะหากดูข้อมูลจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหาร และมีความเครียด สังเกตจากสถิติผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ในปี พ.ศ.2552 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด มีถึง 65% และที่สำคัญกว่านั้นคือ กว่า 80% เป็นประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา” ศ.นพ ประกิต กล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน