บริการสุขภาพ

ภาคประชาชนย้ำระบบหลักประกันสุขภาพต้องเสมอภาค ไม่แยกรวย-จน ด้านเภสัชชนบทชี้ รพ.ยาขาด สธ.จะช่วยอย่างไร

580114 news
เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพออกแถลงการณ์สนับสนุนเจตนารมณ์กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕


นางสาวมีนา ดวงราษี ตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรประชาชน แถลงว่า เจตนารมณ์ของเครือข่ายองค์กรประชาชน คือ ให้มีระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นระบบเดียว กองทุนเดียว ที่เป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยได้รับบริการที่เป็นมาตรฐานเดียว ชุดสิทธิประโยชน์เดียวกัน มีการบริหารระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน เนื่องจากสิทธิด้านสุขภาพเป็นสิทธิของทุกคนโดยเสมอภาค ไม่ใช่เป็นสิทธิที่กลุ่มประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีสิทธิเหนือกลุ่มอื่นๆ

ตัวแทนจากเครือข่ายฯ กล่าวต่อไปว่า ขอให้กฤษฎีกาพิจารณาทบทวนการตีความกฎหมายให้ยึดโยงกับเจตนารมณ์และยึดมั่นในหลักการว่าการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของภาษีและเป็นผู้ใช้สิทธิในการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ โดยขอแถลงจุดยืนว่า ๑.ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยต้องได้รับหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงระบบบริการที่มีมาตรฐานเดียวโดยเสมอหน้ากัน ไม่มีการคัดแยกคนจน คนรวย

๒.สนับสนุนให้ปฏิรูประบบการเงินการคลัง ระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทันที ๓.ไม่มีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการในการเข้ารับบริการสาธารณสุข ๔.ไม่มีประชาชนล้มละลายจากความเจ็บป่วย และ ๕.กำกับการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนให้รองรับระบบหลักประกันสุขภาพ

เภสัชชนบทชี้ ยาขาดจากระบบ ท้วง สธ.จะช่วยอย่างไร
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “เจตนารมณ์และหลักการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ๒๕๔๕: จุดเริ่มต้น และอนาคต” ด้วย
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า คือการทำให้เป็นระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยลดความซ้ำซ้อนของกองทุน ให้เป็นกองทุนระบบเดียว และประชาชนมีส่วนร่วม เพราะหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักฯ กล่าวอีกว่า การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่บทบาทของแพทย์ เพราะแพทย์เป็นผู้ให้บริการไม่ใช่ผู้ตัดสินว่าจะบริหารกองทุนอย่างไร ดังนั้นกฤษฎีกาควรตีความใหม่ และสนับสนุนให้คณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินหน้าดำเนินการต่อไปเหมือนเดิม

นายพรหมมินทร์ หอมหวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สปสช. ให้ความเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายคือ ต้องการให้ทุกคนมีหลักประกันด้านสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และ สปสช.เองก็ดำเนินการตามเจตนารมณ์นี้มาตั้งแต่ต้น

ด้าน ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลด้านซ้าย จ.เลย ตัวแทนชมรมเภสัชชนบท ให้ข้อมูลว่า ระบบการจัดซื้อยารวมทั้งประเทศที่ สปสช.ซื้อนั้นครอบคลุมถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี วัณโรค และวัคซีนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับปรุงระบบมาเรื่อยๆ ทำให้การซื้อยามีราคาถูก ยกตัวอย่างจากการจัดซื้อยารวมในระดับเขต ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาลงได้ถึงประมาณร้อยละ ๓๐ ดังนั้นการจัดซื้อยารวมระดับประเทศโดย สปสช.นั้น ย่อมทำให้รัฐประหยัดงบประมาณลงได้แน่นอน

“อย่างโรงพยาบาลด่านซ้าย กรณียาต้านไวรัสเอชไอวี หากมีคนไข้เบิกยาไปแล้ว อีกไม่เกิน ๑๐ วัน ยาต้านฯ ก็จะถูกสั่งมาเติมเต็มจากยาที่ถูกเบิกไป แต่จากการตีความห้ามการจัดซื้อยารวม ทำให้ขณะนี้ยาต้านฯ ไม่เข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา” ภญ.ดาริน กล่าวและว่า ชมรมเภสัชชนบทอาจถามไปที่ สปสช.เพื่อที่จะตั้งรับกับปัญหาการขาดแคลนยาได้ถูกต้อง และจะสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าจะช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชนอย่างไร เพื่อรับมือจากการขาดยา

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ให้ความเห็นว่า การที่กฤษฎีกาตีความตามกฎหมายนั้นก็พอเป็นที่เข้าใจได้ แต่ สธ.ไม่มีจุดยืนเพียงพอในการปกป้องโรงพยาบาล ซึ่งเงินหลักประกันสุขภาพของ สธ. โรงพยาบาลจะนำเข้าเงินบำรุง แล้วนำไปบริหารจัดการเพื่อทุกคนที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล ให้มีสิทธิเท่ากัน

“ทำไมกระทรวงฯ ถึงปล่อยให้เรื่องนี้ทำลายขวัญกำลังใจ และความรู้สึกของโรงพยาบาล ไม่มีการแก้ไขให้ชัดเจน เช่น หากกฤษฎีกาตีความเช่นนั้นก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายให้ชัด สธ.ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนไม่ว่ากฤษฎีกาจะตีความเป็นอย่างไร โดยต้องยืนยันหรือมีหน้าที่ให้โรงพยาบาลใช้จ่ายได้ตามเงินบำรุงเหมือนเดิม” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าว

นพ.สุภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจะเกิดการรวมตัวกันของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลจังหวัดแน่นอน เพราะเป็นความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง

ด้านนายภาคภูมิ แสงกนกกุล นักศึกษาปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบหลักประกันทางสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้คือ เจตนารมณ์กับกฎหมายที่มีอยู่ไม่สัมพันธ์กัน โดยกฎหมายไม่สามารถปฏิบัติตามเจตนารมณ์ได้ เช่น สปสช.คือผู้ซื้อบริการ เพื่อเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการ และกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ เนื่องจากว่าการที่ไม่ให้ผู้ป่วยต่อรองกับโรงพยาบาลโดยตรง เพราะผู้ป่วยต่อรองกับแพทย์ได้น้อย ดังนั้น การแก้กฎหมายต้องแก้เพื่อให้ สปสช.มีอำนาจในการใช้เงิน และไม่ให้กฎหมายขัดแย้งกันเอง

“แต่สถานการณ์ตอนนี้คือเราไม่มีฝ่ายค้านในการตรวจสอบ และภาคประชาชนก็ไม่สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการแก้กฎหมายในยุครัฐบาลทหาร” นายภาคภูมิกล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรประชาชน ประกอบด้วย เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง ไต และอื่นๆ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายชุมชนแออัด เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนเมือง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและสาธารณสุข เครือข่ายชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ สามารถอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้จากไฟล์แนบ

พิมพ์ อีเมล