เครือข่ายผู้ป่วยตั้งวงวิเคราะห์สิทธิของผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย “ชี้บั่นทอนความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการรักษา”
เมื่อวันที่21 ก.ย. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานงานกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเพื่อโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมทั้งองค์กรเอกชนด้านเอดส์และสุขภาพ ได้ติดตามการประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายภาคีวิชาชีพด้านสุขภาพซึ่งได้ประกาศไปเมื่อ 16 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯเห็นว่าคำประกาศดังกล่าวได้เพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยขึ้นมา เมื่อดูเนื้อหาแล้วเหมือนขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วย ซ้ำยังสร้างความไม่เชื่อมั่นที่จะได้รับความคุ้มครองในการเข้ารับบริการรักษา
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวถึงคำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ที่เพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยเข้ามาว่า แม้จะเป็นการสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ก็บั่นทอนความั่นใจของผู้ป่วย และอาจก่อให้เกิดการฟ้องร้องกันมากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์
"ในคำประกาศมีการพูดถึงความไม่แน่นอนของการรักษา เช่น การระบุว่าทุกการรักษา หรือ การวินิจฉัยโรคทางการแพทย์อาจเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์หรือสุดวิสัยได้ ซึ่งปกติเราก็เข้าใจหลักการนี้ แต่พอมาอยู่ในข้อพึงปฏิบัติ มันทำให้เราต้องตีความเลยว่า แล้วถ้าเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์จริงทางผู้ให้บริการทางการแพทย์จะร่วมรับผิดชอบไหม เพราะก็จะอ้างได้ว่าได้แจ้งในประกาศแล้ว" ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าว
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การมีข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ถ้าไม่ค้านจะกลายเป็นว่าทุกคนต้องยอมรับโดยดุษฎี ซึ่งต่อไปหากจำเป็นต้องมีการฟ้องร้องกรณีที่ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ผู้ป่วยจะแพ้หมด เพราะจะอ้างว่าผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามเองและหมอทำเต็มที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคดีที่อ้างมาตราหนึ่งใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติที่ให้ผู้ป่วยทำหน้าที่แต่ไม่ทำ ศาลชี้ตามให้ผู้ป่วยแพ้ ซึ่งกรณีนี้จะมีการเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนั่งเป็นนายกพิเศษกับสภาวิชาชีพทุกแห่งเพื่อเสนอคำคัดค้านอย่างเป็นทางการต่อไป
“คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่นี้ แม้จะอ้างว่าได้จัดเวทีรับฟังความเห็นแล้ว มีเครือข่ายผู้ป่วย และตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมด้วยตั้งแต่ตุลาคมปี 2557 แต่ก็เป็นเพียงเวทีเดียว และในเวทีก็ได้มีการท้วงติงประเด็นนี้แล้ว แต่สภาวิชาชีพแก้เฉพาะหัวข้อจากหน้าที่ของผู้ป่วย มาเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น” กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
ทางด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนนี้มีความเคลื่อนไหวโดยสภาวิชาชีพ โรงพยาบาลเอกชน และบริษัทยาข้ามชาติ พยายามใส่เนื้อหาแบบนี้ในอีกหลายจุด ทั้งในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปแล้ว ธรรมนูญสุขภาพที่อยู่ระหว่างการรีวิว ในคำประกาศนี้ และอีกหลายกฎหมายซึ่งเราต้องช่วยกันจับตา”