บริการสุขภาพ

ก.พาณิชย์เตรียมศึกษาต้นทุนยา-ค่ารักษา รพ. เอกชน

DIT

ก.พาณิชย์เตรียมตั้งคณะทำงาน ศึกษาโครงสร้างราคาและต้นทุนยา-ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน ด้าน มพบ. ชวนผู้บริโภคส่งข้อมูลค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำไปคำนวณราคาอ้างอิงที่เหมาะสมและเป็นธรรม

          วันนี้ (31 มกราคม 2562) กระทรวงพาณิชย์จัด "การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรฐาน ยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ครั้งที่ 1/2562" โดยมีตัวแทนจากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาลเข้าร่วม เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) แพทยสภา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นต้น ซึ่งข้อสรุปจากที่ประชุม ได้แนวทางในการกำกับดูแลราคายาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งค่าบริการต่างๆ 3 ข้อ ดังนี้

1. ให้โรงพยาบาลแจ้งราคาค่ารักษาให้ผู้ใช้บริการทราบโดยละเอียดและเปิดเผย อาจจะทำเป็นป้ายบอกราคาติดไว้ที่ผนัง แจ้งไว้ในเว็บไซต์ เป็นต้น รวมทั้งแจกแจงค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดในใบเสร็จ

2. ให้กรมสนับสนุนบริการ ออกมาตรการและประกาศให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่สามารถไปซื้อยาข้างนอกได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อยาในโรงพยาบาล

3. ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาโครงสร้างราคาและต้นทุนของยา เวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการของโรงพยาบาล โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน จากนั้นต้องส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณา ซึ่งจะทำให้เกิดราคาอ้างอิงหรือช่วงราคาที่ชัดเจน
          อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ มพบ. เรียกร้องไปแต่ไม่ถูกดำเนินการ คือ เรื่องการให้โรงพยาบาลเอกชนคิดราคารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินสีเหลืองและสีเขียว ในอัตราเดียวกันกับฉุกเฉินสีแดงที่รัฐจ่ายให้ 72 ชั่วโมงแรก โดยกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันต่อไป
          ทั้งนี้ การกำหนดให้โรงพยาบาลแจกแจงรายละเอียดค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลนั้น เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ปี 2543 แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพและไม่สามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลได้ ส่วนเรื่องการอนุญาตให้นำใบสั่งยาไปซื้อยาร้านขายยาได้ สามารถทำได้นานแล้ว แต่โรงพยาบาลไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น หากพบกรณีที่โรงพยาบาลไม่ให้ไปซื้อยาข้างนอก อาจต้องกำหนดความผิดและบทลงโทษที่ชัดเจน

          สำหรับการศึกษาโครงสร้างราคาและต้นทุนของยา เวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการของโรงพยาบาล ต้องใช้ข้อมูลราคายาและค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก ดังนั้น ผู้บริโภคที่เคยประสบกับปัญหาราคายาหรือค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริง หรือสงสัยว่าค่ายา หรือค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปนั้นเหมาะสมหรือไม่ สามารถร้องเรียน และส่งใบเสร็จ รวมทั้งเอกสารต่างๆ มายังมูลนิธิฯ ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

          หากพบว่า โรงพยาบาลมีการคิดราคาสูงเกินสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับ 1 แสน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ข้อมูลราคาค่ารักษาต่างๆ จะถูกรวบรวมเพื่อนำไปคำนวณราคาอ้างอิงของยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [facebook LIVE] ความคืบหน้าจาก "การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรฐาน ยา เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาลฯ ครั้งที่ 1/2562"

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ราคายา, ค่ารักษาพยาบาลแพง, โรงพยาบาลเอกชน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน