คลอดแล้ว ประกาศหลักเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยา "ผู้ประกันตน" ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ หลักเกณฑ์เดียวกับบัตรทอง เสียชีวิตเยียวยา 4 แสนบาท หลังล่าช้ากว่า 3 ปี สนช.จ่อชง รบ.เพิ่มสิทธิให้ข้าราชการด้วย
ความคืบหน้ากรณีประกันสังคมออกประกาศหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์มีความล่าช้ากว่า 3 ปี ทั้งที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มีการระบุถึงเรื่องนี้
เมื่อวันที่21 ม.ค. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคม ได้ลงนามในประกาศหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยใช้อัตราเดียวกับมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นับเป็นเรื่องดีแก่ผู้ประกันตนจำนวน 13 ล้านคนที่ได้รับสิทธิเทียบเท่ากับสิทธิบัตรทอง
"ขณะนี้เหลือเพียงสิทธิข้าราชการเท่านั้นที่ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ได้มีพ.ร.บ.ของตนเอง แต่เป็นเพียงพระราชกฤษฎีกา ซึ่งดูแลเงินกองทุนถึง 6 หมื่นล้านบาท จริงๆก็ควรต้องมีสิทธิตรงนี้ด้วย เพราะการออกสิทธิดังกล่าวไม่ได้ยาก และไม่ได้ใช้เงินมากมาย เพราะขนาดบัตรทองใช้เงินตามมาตรา 41 เพียง 200 ล้านบาท ประกันสังคมคนน้อยกว่าก็น่าจะใช้เงินไม่เยอะ ขณะที่ข้าราชการคนน้อยกว่ามีประมาณ 5 ล้านรายก็น่าจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งทางสนช.จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลเรื่องนี้ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป” นพ.เจตน์ กล่าว
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) เห็นชอบกรรมการการแพทย์ในเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่ง นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ได้ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 แต่เนื่องจากพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ได้บังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ผู้ป่วยประกันสังคมที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ในช่วงเวลาดังกล่าว และยังไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นใดๆ จะสามารถใช้สิทธิตามประกาศนี้ได้ เรียกว่ามีผลย้อนหลังให้นั่นเอง โดยหลักเกณฑ์จะใช้ยึดตามมาตรา 41ของบัตรทอง เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น โดยอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีเสียชีวิตตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท สูญเสียอวัยวะจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท