บริการสุขภาพ

ผู้ติดเชื้อ HIV หวั่นขาดยาช่วงรอยต่อเปลี่ยนกลไกจัดซื้อ จี้ ‘ปิยะสกล’ ชี้แจงขั้นตอนจัดซื้อยาต้านไวรัสฯ ให้กับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ

600810 file2ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศร่วมกันรณรงค์ในเฟสบุ๊ค และสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการโพสต์รูปและติดแฮชแท็ค #แก้กฎหมายให้สปสชซื้อยา เพื่อทวงถามต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ถึงความชัดเจนในการดำเนินการจัดซื้อยารวมระดับประเทศ จากการตีความของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่มีอำนาจจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ๗ กลุ่ม กว่า ๑๑๐ รายการ ซึ่งรวมถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีด้วย

รายงานข้าวจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ระบุว่า นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ต้องออกมาร่วมกันรณรงค์เนื่องจากว่า ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่สปสช.จัดซื้อในปี ๒๕๖๐ จะมีพอใช้ได้ถึงประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงยาสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังอื่น เช่น ผู้ป่วยโรคไต ก็จะมีปัญหาเช่นกัน หลังจากนั้น ผู้ใช้สิทธิบัตรทองกว่า ๔๘ ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้ติดเชื้อฯ กว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน จะทำอย่างไร

นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายนของทุกปี สปสช.จะต้องดำเนินการต่อรองราคายาและเสนอขออนุมัติจัดซื้อยาแล้ว แต่กระบวนการนี้ได้หยุดชะงักลงเพราะ สตง.ชี้ว่า สปสช.จัดซื้อยาไม่ได้ สธ.ก็เช่นกัน จนถึงวันนี้กระบวนการจัดซื้อยาของปี ๒๕๖๑ ยังไม่เกิด รมว.สธ.ต้องตอบคำถามให้กระจ่างว่า ขั้นตอนการจัดซื้อยาปีงบประมาณหน้าจะเป็นอย่างไร หน่วยงานใดจะเป็นคนจัดซื้อยา เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้ยาต่อเนื่อง มั่นใจได้ว่าจะไม่มีสุญญากาศจนเกิดการขาดยา เดือดร้อนกันทั่วประเทศ และต้องการให้ รมว.สธ.เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเร่งด่วนให้มีมติเพิ่มอำนาจให้กับ สปสช.จัดซื้อยาได้

“เมื่อวันที่ ๔ สิงหาที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้ สธ.ร่วมกับ สปสช. จัดซื้อยา แต่กฎหมายนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้ และไม่แน่ว่าจะถูกปรับแก้อีกหรือไม่ และจากการปรึกษาระหว่างแกนนำกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ที่ทำงานศูนย์บริการแบบองค์รวมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในระดับอำเภอหลายแห่ง มีความกังวลใจว่า ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในเร็ววันนี้ ต้นปีงบประมาณหน้าอาจจะเกิดสถานการณ์ยาไม่พอจ่ายให้ผู้ติดเชื้อฯ เหมือนที่เคยได้รับ ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังอื่นๆ จะเดินหน้าขอเข้าพบ รมว.สธ.ต่อไป” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการรณรงค์ในสื่อสังคมออนไลน์ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสอบถามและมาพบแกนนำเครือข่ายฯ บางคนถึงในพื้นที่

“เรื่องนี้ไม่สมควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะการออกมาส่งเสียงเรียกร้อง ทวงถามถึงสิทธิในการได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอื่นๆ เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะแสดงออกได้โดยเสรี” นายอนันต์ กล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน