บริการสุขภาพ

ถอดบทเรียนความสำเร็จ สปสช.จัดหา ‘ยาจำเป็น’

580901 medizineเวทีวิชาการหวั่นรวบอำนาจคืน สธ.กระทบ ปชช.

ยังคงเป็นเรื่องร้อนในแวดวงสาธารณสุขและยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงถึงความเหมาะสม สำหรับการปรับแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ใน 14 ประเด็นสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจในการ “จัดหายาจำเป็น” โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ที่ผ่านมา ประจักษ์แก่สังคมไทยและเวทีโลกแล้วว่า สปสช.สามารถบริหารจัดการยาจำเป็น ยาราคาแพง ยาหายาก และยาที่มีปัญหาการเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลจากกลไกการต่อรองราคาและการจัดซื้อยารวมแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเหล่านั้น โดยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับภาวะล้มละลายทางการเงินจากการรักษาพยาบาลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ทักท้วงว่าไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่อนุญาตให้ สปสช.นำเงินจากกองทุนไปจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในรายการที่จำเป็นส่งให้หน่วยพยาบาล ก่อนที่ต่อมาจะยอมผ่อนปรนเป็นรายกรณีนั้น

ได้เกิดความพยายามของกลุ่มผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะโอนถ่ายภารกิจและอำนาจในการจัดซื้อ กลับคืนสู่ สธ.ด้วยการปรับแก้กฎหมายในขณะนี้

นำมาซึ่งข้อห่วงใจจากนักวิชาการ อาจารย์แพทย์ และเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งฉายผ่านที่ประชุมวิชาการเรื่อง การจัดหายาจำเป็น โดย สปสช. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ซึ่งจัดโดยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับอีก 7 ภาคีเครือข่ายวิชาการ

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะกรรมการประสานยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบยา ให้ภาพว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดซื้อยารวมบางรายการที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่าจะเป็นจริงๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ยาที่มีราคาแพงและต้องการควบคุมมาตรฐานการรักษา เช่น ยาเอดส์ วัณโรค ไต มะเร็ง รวมถึงยาที่ประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา 2.ยาช่วยชีวิตหรือรักษาโรคที่พบไม่บ่อย แต่ไม่มีผู้ผลิตนำเข้าหรือจัดจำหน่าย ซึ่งอยู่ในกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ 3.วัคซีนที่อยู่ในโครงการส่งเสริมป้องกันโรคของเด็กหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้มียาใช้และกระจายสู่ผู้รับบริการอย่างทั่วถึง

สำหรับสาระของการประชุม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ภาพกว้างของการจัดหายาจำเป็นโดย สปสช.ในกลุ่มยาต่างๆ โดยพบว่าเมื่อเทียบงบประมาณรายหัว 3 กองทุนสุขภาพแล้ว สปสช.หรือบัตรทอง ได้น้อยกว่าข้าราชการถึง 4 เท่า สะท้อนถึงการจัดการทรัพยากรของรัฐที่แตกต่างอย่างชัดเจน และจากการสำรวจความพึงพอใจต่อระบบบัตรทองยังพบด้วยว่าประชาชนกังวลว่าจะเข้าไม่ถึงยาราคาแพงและกังวลเรื่องคุณภาพของยา สปสช.จึงได้จัดระบบบริหารกลุ่มยาราคาแพงขึ้น

ไม่น่าเชื่อว่า ภายใต้วงเงิน 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็น 4.9% ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมดของประเทศไทยเท่านั้น สปสช.สามารถจัดหายาเหล่านี้ผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ร่วมๆ 106 รายการ ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงยาในการรักษา ซึ่งคงไม่สามารถประเมินความสำเร็จเป็นมูลค่าหรือตัวเงินได้

ที่ประชุมยังได้ถอดประสบการณ์ “การบริหารจัดการจัดหายากำพร้าและยาต้านพิษ” ซึ่งพบว่า สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยา โดยเฉพาะยาต้านพิษที่ไม่มีผู้ผลิตนั้น สปสช.ได้ประสานสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรมเพื่อผลิตยา และยังมีการจัดหายาเหล่านั้นจากต่างประเทศ พร้อมกันนี้มีระบบ Fast track ในการขึ้นทะเบียนยา และกระจายยาครอบคลุมผู้ใช้สิทธิ 3 กองทุนด้วย

ในส่วนของ “การบริหารจัดการจัดหายามะเร็ง” นั้น สปสช.แยกการจ่ายคายามะเร็งราคาแพงออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้โรงพยาบาลชนบทไม่ต้องแบกรับภาระค่ายาเหล่านี้ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น มากไปกว่านั้นคือในปี 2550 สปสช.ยังได้สนับสนุนให้ร่วมกันสร้างมาตรฐานการรักษา (protocol) โรคมะเร็งแต่ละประเภทขึ้น และจัดระบบการต่อรองยาตาม protocol จนทำให้ได้ยาราคาถูก

สำหรับ “การบริหารจัดการจัดหาน้ำยาล้างไต” ภายหลังปี 2551 มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในสิทธิบัตรทอง สปสช.จึงได้ต่อรองราคาน้ำยาล้างไตและยาที่จำเป็น และยังได้ทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยเพื่อขนส่งน้ำยาไปที่บ้านผู้ป่วยและทำการจัดเก็บในบ้านของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงน้ำยาล้างไตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ท้ายที่สุดคือ “การบริหารจัดการจัดหายาเอดส์” ซึ่งสถานการณ์ในอดีตคือแม้งบประมาณมีมากขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถจัดให้ประชาชนไทยเข้าถึงยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาจำเป็นอื่นๆ ได้ทุกรายการ เนื่องจากยาหลายรายการมีราคาสูงมากและส่วนใหญ่มักเป็นรายการยาที่ติดสิทธิบัตร สปสช.จึงเสนอให้ รมว.สธ. ประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล)

ทั้งนี้ เริ่มจากการประกาศใช้สิทธิในรายการยารักษาโรคเอดส์ 2 รายการ คือ ยา Efavirenz (EFV) และยาสูตรผสม Lopinavir + Ritronavir (LPV/RTV) จนทำให้งบประมาณที่มีอยู่เพียงพอต่อการจัดหายา ส่งผลให้ผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงยาอย่างครอบคลุม

สำหรับข้อเสนอจากเวทีวิชาการถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คือ 1.ให้ สปสช.บริหารจัดการจัดหายาจำเป็นต่อไป และควรขยายไปถึงกลุ่มยาอื่นที่มีปัญหาการเข้าถึงด้วย 2.ควรแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ชัดเจนว่าให้ สปสช.ดำเนินการได้ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันไม่ได้มีข้อห้าม หากแต่มีความคลุมเครือในถ้อยคำ

นั่นเพราะทั้งภาควิชาการ และภาคประชาชน มีความกังวลตรงกันว่า หากอำนาจการจัดซื้อ-จัดหายา ไปอยู่ภายใต้ระบบราชการอย่าง สธ.จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเช่นที่ สปสช.ได้ทำมาหรือไม่

รายงานการประชุม "การจัดหายาจำเป็น โดย สปสช." ฉบับเต็ม (ไฟล์ .PDF) อ่านได้ที่ https://goo.gl/bWnuei

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน