จากข่าว เด็กปวดท้องไปนอนโรงพยาบาล 3 วัน หมออ้างแค่ลำไส้อักเสบให้กลับบ้านได้ พาเช็กที่อื่นพบเป็นไส้ติ่งอักเสบ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา
นางสาวชนัญชิดา ตัณฑะผลิน เลขาอนุกรรมการ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ด้านบริการสุขภาพ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า
“กรณีเกิดความเสียหายเกี่ยวกับการรักษาขึ้น ผู้บริโภคต้องตั้งสติก่อนว่า โรงพยาบาลนั้น เป็นสิทธิ์บัตรทองหรือบัตรประกันสังคม สามารถโทรปรึกษาเบื้องต้นก่อนได้ ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือสายด่วนประกันสังคม 1506 เพื่อตรวจสอบสิทธิ์และขั้นตอนการใช้สิทธิ์ต่างๆ”
พร้อมกับแนะนำว่ากรณีใช้สิทธิ ตามมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1.ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชยเยียวเบื้องต้น ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เขตพื้นที่ต่างจังหวัด หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขต13 กรุงเทพมหานคร โดยให้ยื่นเอกสารชุดที่เป็นสำเนา ส่วนเอกสารตัวจริงให้เก็บไว้ เอกสารประกอบด้วย ประวัติการรักษา, ใบรับรองแพทย์หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล
2.แจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริง
3. ขอเจรจาไกล่เกลี่ยหรือเรียกค่าเสียหาย ควรทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงแพทย์ผู้รักษาหรือผู้อำนวยการหน่วยบริการนั้นๆ
4. ยื่นฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาต่อศาล กรณีเจรจาไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ แต่กระบวนการยุติธรรมใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีโรงพยาบาลสิทธิประกันสังคม สามารถขอเจรจาเรียกค่าเสียหายได้ แต่ไม่สามารถใช้สิทธิมาตรา 41 ได้