บริการสุขภาพ

โอน 60,000 ล้าน ซื้อประกันสุขภาพให้ข้าราชการ เหมาะสมเพียงใด

590927 file
เรื่องนี้อยากให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ ตามมาตรฐานที่ท่านตั้งเป้าในการเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนในประเทศ 

การที่กรมบัญชีกลางเสนอให้โอนการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการปีละ 60,000ล้านบาทไปให้บริษัทประกันภัยภาคเอกชนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีว่าเพื่อประโยชน์ของข้าราชการ ประเทศชาติ หรือของบริษัทเอกชน เพราะระบบประกันสุขภาพเป็นระบบที่รัฐใช้จ่ายจากภาษีประชาชน และเป็นระบบที่ถ้วนหน้าในปัจจุบันแต่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนทุกคน เพราะรัฐจ่ายให้ข้าราชการมากกว่าประชาชน รัฐใช้เงิน 60,000 ล้านบาทจ่ายค่ารักษาให้ข้าราชการและครอบครัวเพียง 6 ล้านคนหรือคนละ 10,000บาท/ปี ขณะที่คนอีก 48 ล้านคนที่ใช้ระบบบัตรทอง รัฐจ่ายปีละ 140,000 ล้านบาท หรือคนละ 3,000 บาทต่อปี โดยเงินทั้งหมดจะถูกจ่ายตรงไปที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน หากรัฐเลือกที่จะใช้เงิน 60,000 ล้านบาทไปให้บริษัทเอกชน จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการให้กับเอกชน ที่สำคัญก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนในระบบบัตรทอง ทั้งนี้รัฐควรใช้เงินด้านหลักประกันสุขภาพทั้งหมดรวมกันกว่า 200,000 ล้านบาท ดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคกันมากกว่า

หลายคนเห็นว่า การให้บริษัทเอกชนมาจัดบริการสุขภาพให้ข้าราชการเป็นแนวคิดที่ดี และคิดว่ารัฐจะลดค่าใช้จ่ายปีละ 6 หมื่นล้านลงได้ ขอให้คิดตรึกตรองดีดี เพราะจะกลายเป็นว่ารัฐก็ซื้อประกันจากบริษัทเอกชนหัวละ 10,000 บาทอยู่ดี เท่ากับใช้เงิน 6 หมื่นล้านและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การจัดการ การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ การเรียกเอกสาร การยกเว้นโรคต่างๆ ตามแบบที่บริษัทเอกชนดำเนินการก็จะตามมา แม้รัฐอาจบอกว่าจะต่อรองสัญญาประเภทสิทธิประโยชน์กับบริษัทเอกชนได้ แต่มีบทเรียนมาแล้วในหลายประเทศและแม้แต่ประกันสุขภาพในบ้านเราที่จ่ายกันปีละหมื่นสองหมื่นบาท เอาเข้าจริงยกเว้นโรคนั้น โรคนี้ หรือต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้คือ การส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวมทั้งประเทศ เพราะรัฐใช้งบประมาณในการซื้อประกันที่ต่างกัน ราคาต่างกัน ระหว่างข้าราชการ 10,000 บาท/คน ให้เอกชนทำ กับประชาชนทั่วไปรวมพวกในประกันสังคม ซื้อในราคา ถัวเฉลี่ยที่ 3,000 บาท/คน ให้โรงพยาบาลรัฐทำ  แล้วโรงพยาบาลเอกชนก็ร่วมมือกับบริษัทประกันได้ ราคาซื้อสูงบริษัทประกันก็ไปทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลเอกชนได้กำไรเพิ่มขึ้น จ้างหมอ พยาบาล ราคาสูงขึ้น ย่อมดึงดูดคนเหล่านี้ไปที่โรงพยาบาลเอกชน ขณะที่โรงพยาบาลรัฐในต่างอำเภอก็ยังแก้ปัญหาหมอ พยาบาลไม่เพียงพอไม่ได้ โครงการนี้จะยิ่งถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำออกไปอีก

แต่หากรัฐเอาเงินทั้งหมดที่จะซื้อประกันทั้งบัตรทอง ข้าราชการ ประกันสังคม เอามาดำเนินการให้โรงพยาบาลของรัฐได้รับประโยชน์เต็มๆ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายหัวให้สูงขึ้นเฉลี่ยจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ทุกคนเท่ากันเสมอกัน ให้โรงพยาบาลรัฐเป็นผู้รับประกัน ส่วนเกินหรือคนรวยมากๆไม่อยากใช้โรงพยาบาลรัฐ ก็ไปเลือกช้อปปิ้งใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเอง ย่อมทำให้โรงพยาบาลรัฐก็มีหมอพยาบาลที่อยู่ทำงานมากขึ้น ได้รับค่าใช้จ่ายมากขึ้น หน่วยงานกำกับระบบหลักประกันสุขภาพตามกฎหมายก็ทำหน้าที่บริหารและจัดชุดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเหมาะสม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพได้ เรื่องนี้ต้องคิดดีดี ทั้งรัฐ และนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ที่มองว่าการทำให้ธุรกิจเอกชนเติบโตจะทำให้เศรษฐกิจประเทศโตด้วยโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงในทางความเหลื่อมล้ำ การกระจายความเป็นธรรม ก็จะหลงประเด็นไป

ข้อเสนอคือเอาเงิน 6 หมื่นล้านที่จะไปจ่ายให้บริษัทเอกชน มารวมกับเงิน 1 แสน 4 หมื่นล้าน ของบัตรทอง และ อีก 5 หมื่นล้านของประกันสังคม แล้วบริหารจัดซื้อระบบหลักประกันสุขภาพโดยรัฐเอง มุ่งเน้นไปที่การซื้อบริการจากโรงพยาบาลรัฐ ส่วนการบริหารจัดการก็มีหน่วยงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารอยู่แล้ว จะได้ประโยชน์มากกว่า มีความเป็นธรรม ได้จริง และเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ตามเป้าหมายการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้

พิมพ์ อีเมล