ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ขัดรัฐธรรมนูญ ม.30 ระบุ ไม่เป็นธรรม-เลือกปฏิบัติ เตรียมทำหนังสือถึง รมว.แรงงาน ให้รีบแก้ไข หากยังเพิกเฉย จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้มีสภาพบังคับ
วันที่ 17 มี.ค. นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธาน ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังการเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลผู้ ประกันตน อาทิ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาองค์การนายจ้าง และชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน มาชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีการร้องเรียนว่าการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อนำไป เป็นค่ารักษาพยาบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า กฎหมายประกันสังคมในส่วนของการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนไปเป็นค่าดูแล สุขภาพ เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ระบุ ถึงการได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคล เพราะในขณะที่ สปส.เก็บเงินส่วนหนึ่งของผู้ประกันตนไปเป็นค่ารักษาพยาบาล แต่ สปสช.ดูแลสุขภาพคนทั้งประเทศในมาตรฐานเดียวกันโดยไม่ต้องจ่าย
ส่วนคำถามที่ว่าจะเป็นการสร้างภาระงบประมาณให้กับประเทศในอนาคต เพราะรัฐต้องจ่ายเงินค่าดูแลสุขภาพให้ผู้ประกันตนเกือบ 10 ล้านคน หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากในอนาคตประสบปัญหาเกี่ยวกับภาระงบประมาณ ก็อาจจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ตนจะเร่งทำหนังสือแสดงผลการวินิจฉัยถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เนื่องจากขณะนี้กำลังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขอยู่ในสภา อย่างไรก็ตาม หากผู้เกี่ยวข้องยังเพิกเฉยก็จะพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐ ธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้มีสภาพบังคับต่อไป
ด้านนายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ในฐานะผู้ยื่นคำร้อง กล่าวว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินชัดเจนว่ากฎหมายประกันสังคมขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษา อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หารือกันไม่เกี่ยวกับว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแล การรักษาพยาบาลผู้ประกันตน เพราะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการของรัฐ ตนในฐานะที่เป็นคณะกรรมการประกันสังคม เพียงอยากเห็นความเป็นธรรมของผู้ประกันตนเท่านั้น พร้อมเสนอให้นำเงินในส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ต้องจ่ายไปเพิ่มสิทธิ ประโยชน์ด้านอื่น เช่นบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนแทน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 มีนาคม 2554