บริการสุขภาพ

เรื่องเศร้าของการรอคอย “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ”

โดย...จารยา บุญมาก

มา ถึงวันนี้ไม่ได้มีแค่ผู้ป่วยที่เฝ้ารอกฎหมายเพราะเชื่อในสัญญาปากของรัฐบาล ที่เคยบอกว่าจะไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย แต่ยังมีประชาชนอีกนับร้อยที่รอคอยให้มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธาน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ย้ำถึงความหวังในการรอคอย การประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ…หลังจากที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวหลุดจากวาระที่ประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯหลุดจากวาระที่ประชุมสภาฯนั้นคืออะไร แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายสนับสนุนอย่าง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นว่า การเคลื่อนไหวของแพทย์ที่คัดค้าน และรวมกันชุมนุมเพื่อให้วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านชะลอการพิจารณา พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ นั้นเป็นไปเพื่อต้องการถ่วงเวลาเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ตกจากวาระการประชุม สภาฯสมัยนี้

แฟ้มภาพ
ด้านนพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้ รั้งตำแหน่งแพทยสมาคมยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า การจะออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศนั้นไม่ควรเร่งรีบ แต่ควรให้เวลาทุกฝ่ายพิจารณาหลักการและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งขณะนี้ ทางคณะทำงานพิจารณาศึกษา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯก็กำลังดำเนินการดังกล่าวอยู่ และทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นก็ต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสนับสนุนการจัดทำประชาพิจารณ์อย่างชัดเจน

ณ เวลานี้ไม่มีใครสามารถทราบได้ว่า ทิศทางของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะเอนเอียงไปทางใด แต่ภิญญามาศ โยธี มารดาของด.ช.เชาวรินทร์ อ่องประเสริฐ หรือ “น้องแชมปอ อายุ 2 ปี 6 เดือน เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากผลของการสั่งให้ละลายลิ่มเลือดวาร์ฟารินในขณะมารดา อายุครรภ์ 5 เดือน ทั้งๆ ยาดังกล่าวระบุข้อมูลชัดเจนว่าห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ กระทั่งส่งผลผิดปกติต่อสมองและดวงตาของเด็ก ยอมรับว่า คงไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมจากหน่วยงานใดได้ หากกฎหมายดังกล่าวไม่มีการประกาศใช้

“ไม่ ว่าจะเร็วจะช้า ขอแค่ให้กฎหมายบับอันที่พึ่งสิ่งเดียงของประชาชนที่ไม่มีความรู้ด้านการ แพทย์นั้นเข้าสู่วาะระที่ประชุมของสภาให้ได้ และมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการก็พอ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมารู้แล้วว่าการต่อสู้โดยปราศจากกฎหมายคุ้มครองอย่าง เป็นรูปธรรมนั้นลำบากเพียงใด เพราะไม่ว่าจะร้องเรียนผ่านหน่วยงานใดก็ไม่เป็นผล” ภิญญามาศ กล่าวด้วยความหวัง

แฟ้มภาพ
ไม่ต่างจาก ศิริรัตน์ จั่นเพ็ชร อายุ 36 ปี ผู้พิการครึ่งท่อนล่างของร่างกายมานานกว่า 10 ปี หลังจากการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคติดเชื้อไขสันหลังช้ากว่ากำหนด ทั้งๆที่แพทย์ผู้รักษาบอกเองว่าอาการดังกล่าวต้องผ่าตัดเร่งด่วน แต่ก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องแบกรับกับความพิการจวบจนในปัจจุบัน

“ช่วงที่เริ่มสังเกตว่าตัวเองขาชาหลังจากการผ่าตัดนั้น หมอบอกแค่ว่า เป็นอาการข้างเคียงจากการรับยาชาไม่เกิน 1 สัปดาห์ต้องหายเป็นปกติ แต่พอเวลาผ่านไปราวสองถึงสามเดือน เรามาทวงถามว่าเมื่อไหร่อาการจะดีขึ้น หมอก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจน แต่ยืนยันว่าจะต้องหายเป็นปกติ” ศิริรัตน์ เล่าย้อนถึงอดีต

ทันทีที่ๆ รู้ว่าไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมได้ ศิริรัตน์ เริ่มใช้ช่องทางทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาช่วย ทั้งแจ้งความ ร้องเรียน ต่อแพทย์เจ้าของไข้ โรงพยาบาลที่รักษา ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่เป็นผล นอกเหนือเสียจากการได้รับเพียงคำตอบแบบปัดความรับห้วนๆจากโรงพยาบาลที่ทำการ รักษาเธอว่า ทำเวชระเบียนในการรักษาหายไปแล้ว และไม่สามารถตามเรื่องเพื่อดำเนินการใดๆ ให้ได้

การต่อสู้เพื่อตนเองของศิริรัตน์ เป็นไปอย่างว่างเปล่า จนวันนี้ เธอถอดใจแล้วว่า แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจะถูกประกาศใช้ เธอก็ไม่สามารถอาศัยประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวได้เพราะในหลักการของกฎหมาย ฉบับนี้นั้นกรณีข้อผิดพลาดของเธอได้หมดอายุความลงแล้ว หากแต่การเคลื่อนไหวร่วมกับสมาชิกผู้เคราะห์ร้ายอีกหลายร้อยคน ก็เพราะหวังว่าในอนาคต จะไม่มีใครต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนตัวเอง

ทั้ง ภิญญามาศ และ ศิริรัตน์ ยืนยันตรงกันว่า การ รอคอยกฎหมายไม่ได้เป็นไปเพื่อเงินหมื่นเงินแสนจากกองทุนเงินช่วยเหลือ และเงินชดเชย หากแต่รอดูกฎหมายที่มีประโยชน์ ทั้งต่อแพทย์ บุคลากรทางสาธารณสุข และประชาชนอีกนับล้านคงรอคอยเช่นกัน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2553 07:53 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน