บริการสุขภาพ

มอง “พ.ร.บ.คุ้มครองฯ” ในต่างแดน ดีพอแค่ไหนกับบ้านเรา!

ประเด็นร้อนๆ ที่ยังไม่ลงรอยสำหรับการจัดตั้งกองทุนพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติ กรณีที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด (No-Fault Liability) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... นั้น

หัวหอกในการชี้แจงประเด็นดังกล่าวคือ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยให้เหตุผลว่า มีข้อมูลทางวิชาการ พบว่ากองทุนดังกล่าวเป็นการขยายความช่วยเหลือจากมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต่างประเทศ เช่น สวีเดน นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และ เดนมาร์ก ที่สามารถช่วยให้ประชาชนพอใจมากขึ้นจากการช่วยเหลือเบื้องต้น และสามารถลดการฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ 

รัตนสิทธิ์ ทิพย์วงศ์
ขณะที่ฝ่ายแพทยสภาอย่าง “นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา” นายกแพทยสภา ก็คัดค้านสุดเหวี่ยงด้วยข้อมูล ที่ระบุว่า ที่ประเทศสวีเดนนำเม็ดเงินมาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับความเสีย หายฯ นั้น มาจากภาษีท้องถิ่นของประชาชน  ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้งบจากรัฐบาล เพราะเกรงว่างบประมาณประเทศถูกใช้ไปจนหมด ถ้าหากมีผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาล  ไทยจึงทำไม่ได้ เพราะ 1.ความโปร่งใสที่อยู่ถึงอันดับที่ 84 ของโลก ขณะที่สวีเดนและนิวซีแลนด์ อยู่อันดับ 1 และ 3 เขาจึงสามารถใช้ระบบรัฐสวัสดิการที่ประชาชนต้องเสียภาษีสูงได้ อีกทั้งประเทศเหล่านั้นมีประชากรน้อย ซึ่งขนาดประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกายังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะมองเห็นผลที่ไม่คุ้มค่า เพราะเชื่อว่ากฎหมายนี้จะทำให้การดูแลบริการเลวลง แต่ต้องเสียเงินมากขึ้น ซึ่งผู้ร่างหวังจะได้เป็นผู้บริหารกองทุนจำนวนหลายหมื่นล้านบาท และสร้างเครือข่ายทั่วประเทศอีกด้วย

ในเรื่องนี้เองทำให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเวทีให้ข้อมูลถึงระบบการชดเชยความเสียหายฯ ในหัวข้อ “กม.คุ้มครองผู้ป่วย ประสบการณ์ต่างแดน : เรียนรู้และเข้าใจก่อนตัดสินใจ” ซึ่ง “รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง” นัก วิชาการโครงการสังคมศาสตร์สุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล สรุปว่า ประเทศไทยสมควรมีระบบการชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดนี้แต่ทุกฝ่ายต้องหยุดถก เถียงกันแล้วเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบ โดยการบูรณาการวิธีการบางวิธีจากต่างประเทศมาใช้ เพราะระบบดังกล่าวนั้นมีความซับซ้อนด้านกลไก  เนื่องจากแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ทั้งแหล่งเงิน ประชากร รวมถึงหลักคิดที่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม


“เราควรหยุดเถียงกันเสียที แต่ควรมาร่วมระดมความคิดในการออกแบบระบบ ทั้งในเบื้องต้นและเงินชดเชยเมื่อสิ้นสุดคดี  ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากกลไกไม่ดี ไทยอาจเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาการที่ผู้เสียหายต้องเสียเวลาฟ้อง แพทย์จากกระบวนการของชั้นศาล ที่ยาวนานและเสียค่าใช้จ่ายดำเนินการตามกฎหมายจนกลายเป็น  “อุตสาหกรรมการฟ้องร้อง”  ที่เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มวิชาชีพทางกฎหมาย  ส่วนแพทย์และผู้ป่วยก็มีแต่เสียกับเสีย  เช่นเดียวกับ อังกฤษ ที่มีอัตราการฟ้องร้องสูงถึง 15,000 กรณี ที่ใช้เวลาการดำเนินคดีเฉลี่ยรายละ 6 ปี ขณะที่มีผู้ได้รับเงินชดเชยแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนระบบการฟ้องร้องในอเมริกา ก็ส่งผลกระทบให้แพทย์ต้องย้ายรัฐ หรือลาออกบางรัฐที่มีการฟ้องร้องมากจึ่งขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ไปโดย ปริยาย”  นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ฯ ม.มหิดล ให้ข้อมูล


ขณะที่ “รัตนสิทธิ์  ทิพย์วงศ์” นัก วิชาการด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข ม.วลัยลักษณ์ อธิบายว่า อย่างน้อยก็จะช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงจากผู้มีส่วนได้เสียทางสังคม  ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานได้ แต่ผลด้านลบก็มี เช่น การชดเชยที่ครอบคลุมค่าเสียหายที่มิใช่ทางเศรษฐกิจโดยไม่กำหนดเพดานขั้นสูง ไว้จะทำให้ระบบใหม่มีต้นทุนต่อหัวต่อรายได้ประชากรสูงและอาจสูงกว่าระบบศาล  การชดเชยความเสียหายจากกรณีของภาวะแทรกซ้อน (ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้) จะมีผลทำให้ต้นทุนการชดเชยในระบบสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ข้อสรุปเปรียบเทียบระหว่างระบบฟ้องร้อง และระบบชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด พบว่า ระบบฟ้องร้องเน้นไปที่การลงโทษเฉพาะบุคคล ส่วนระบบชดเชยฯ เป็นการเน้นความรับผิดชอบโดยรวมทั้งระบบ เน้นพิสูจน์หาสาเหตุของความผิดพลาดไม่ใช้พิสูจน์หาคนผิด

ก็ได้แต่หวังว่าหากมีการออกแบบระบบได้ดี แล้วนำมาปรับปรุงเนื้อหาเพื่อใช้ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ น่าจะช่วยให้การติดตามช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายฯ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอกระบวนการทางชั้นศาล

ถึง ตรงนี้ในเมื่อร่างกฎหมายของไทยเอง ยังเถียงกันไม่จบ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า กฎหมายแต่ละประเทศจะดีพอกับบ้านเรา อีกทั้งในการสร้างความสมานฉันท์ของเรื่องนี้ก็ยังคงมืดมิด ดังนั้น ประเด็นในการจับประสบการณ์จากต่างประเทศมาใช้ก็คงอีกนานเช่นกัน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน