บริการสุขภาพ

แพทยสภาชี้ตรวจคนไข้น้อยไม่ผิดจรรยาบรรณ อ้างทำงานละเอียด สหพันธ์แพทย์ฯแจง3ข้อค้านร่างกม.คุ้มครองฯ

กรณี ความขัดแย้งในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ระหว่างผู้รับบริการ และผู้ให้บริการสาธารณสุข นำไปสู่การเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งล่าสุดสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ใช้มาตรการปรับระบบให้บริการตรวจรักษาคนไข้ตอบโต้หากมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรนั้น


นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของแพทย์ไม่ถือว่าขัดต่อจรรยาบรรณแพทย์ เนื่องจากการตรวจวินิจฉัยที่นานขึ้นย่อมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้มากกว่า เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในต่างประเทศการตรวจวินิจฉัยคนไข้จะใช้เวลานาน ไม่ได้เป็นมาตรฐานตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา การตรวจวินิจฉัยคนไข้จะใช้เวลาเฉลี่ย 20 นาทีต่อคน ขณะที่ประเทศไทยใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาทีต่อคน ซึ่งแตกต่างกันมาก


"การตรวจวินิจฉัยที่นานขึ้นไม่ถือว่าผิดจรรยาบรรณแพทย์ แต่อาจจะดีต่อระบบบริการสาธารณสุข ทำให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น และยังส่งผลต่อคุณภาพการบริการและรักษา แต่หากมีมาตรการอื่นๆ ร่วม เช่น หยุดงานที่ส่งผลกระทบต่อคนไข้แผนกฉุกเฉิน ก็ถือว่าผิดจรรยาบรรณ ซึ่งผมไม่อยากเห็นการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ และเชื่อว่าจะเป็นเพียงการพูด แต่ไม่ทำมากกว่า เพราะแพทย์ทุกคนทราบดีว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ"


ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แนวทางการเคลื่อนไหวที่ห้ามดำเนินการโดยเด็ดขาดคือ ห้ามดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลต่อผู้ป่วยใน และผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยผู้ป่วยดังกล่าวจะต้องได้รับการดูแลรักษา แพทย์จะปฏิเสธไม่ได้เด็ดขาด ส่วนมาตรการที่ระบุว่าจะตรวจผู้ป่วยนอกในแต่ละห้องตรวจไม่เกิน 50 คนต่อวันนั้น การกำหนดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ารับการตรวจเป็นแนวทางที่โรงพยาบาลบางแห่ง ดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่ดี


"แต่ก็ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่แพทย์ต้องทำงานอยู่บน ความเสี่ยง เพราะแพทย์บางคนจะต้องตรวจคนไข้ถึงวันละ 200 คน ขณะที่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่แพทย์ก็จะต้องตรวจคนไข้เฉลี่ยที่วันละกว่า 100 คน เข้าใจว่ามาตรการนี้ของสมาพันธ์ก็เพื่อต้องการลดความผิดพลาด แต่ยังคงไม่มีการดำเนินการในขณะนี้ เพราะหากดำเนินการขึ้นมาแล้วจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน"


นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์สมาพันธ์ รพศ./รพท. เป็นคนละเรื่องกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากโดยหลัก พ.ร.บ.ต้องการให้การเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด คือ จะไม่มีการเอาผิดแพทย์ ส่วนกรณีไม่เห็นด้วยในรายละเอียดบางมาตราของร่าง พ.ร.บ. ก็สามารถหารือกันได้ แต่ควรหันหน้าและพูดคุยถึงจุดร่วมกันจะดีที่สุด การเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามควรคำนึงใน 3 เรื่องประกอบกัน คือ 1.ต้องมีหัวใจความเป็นมนุษย์ 2.ต้องมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อหาข้อยุติ และ 3.ต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน หากคำนึงถึงเรื่องนี้ประโยชน์ก็จะตกเป็นของส่วนรวม


ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คิดว่าเป็นเพียงความคิดเห็นของแพทย์บางคนเท่านั้น และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความ สมานฉันท์


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผลการสอบสวนวินัยข้าราชการ 5 ราย ที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการ สธ.สอบสวนตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็ง สธ. นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดรายงานสรุปผลการตรวจสอบดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็น 1 ใน 5 ข้าราชการที่ถูกสอบสวนครั้งนี้ แต่ที่ผ่านมาก็เชื่อมั่นในตนเองมาตลอด และพร้อมอโหสิกรรมให้ ทั้งนี้ ในส่วนของกรณี นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 6 ที่คณะกรรมการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก 1 ชุดนั้น ขอศึกษารายงานอย่างละเอียดก่อน


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ตุลาคม นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) นำตัวแทนกลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจำนวน 8 คน เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่รัฐสภา โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง  ก่อนที่ทั้งหมดจะออกไปหารือกันต่ออีกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งเขตพระนคร ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง


จากนั้น นพ.ฐาปนวงศ์แถลงที่กระทรวงสาธารณสุขว่า การเข้าพบครั้งนี้เพื่อชี้แจงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับมาตราต่างๆ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเหตุผลในการคัดค้าน ซึ่งมีอย่างน้อย 3 ข้อ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ไม่เป็นธรรม ไม่สมดุล เอนเอียง ก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้ให้บริการสาธารณสุข 2.การจัดตั้งกองทุนตาม พ.ร.บ.พบว่ามีการใช้เงินแผ่นดินจำนวนมหาศาลราว 10,000 ล้านบาท ใน 1-2 ปีข้างหน้า จึงเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดต้องนำภาษีประชาชนมาไว้กับกองทุนนี้ ที่สำคัญเงินที่เหลือไม่ต้องคืนคลัง และจะมีผู้ที่เข้ามารับผิดชอบดูแลกองทุนเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่เคยต่อสู้ให้เกิดกองทุนต่างๆ มากมาย และ 3.จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ศึกษาข้อดีข้อเสียกับผู้ที่อยู่ในกฎหมายทั้งหมด แต่การเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ กลับไม่ได้ดำเนินการ


นพ.ฐาปนวงศ์แถลงอีกว่า จากนี้จะขอดูท่าทีการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการ สาธารณสุข ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ จึงจะกำหนดท่าที่การเคลื่อนไหวต่อไป และหากสภาผู้แทนราษฎรไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ..ที่กลุ่มแพทย์ บุคลากร และประชาชนร่วมกันเสนอขึ้นมาพิจารณา กลุ่มแพทย์จะมีมาตรการตอบโต้ทันทีแน่นอน


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอร้องให้แพทย์ที่คัดค้านหยุดใช้ผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพราะการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิด แต่เป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐาน จึงขอเรียกร้องให้เปิดเผยความต้องการกฎหมายในแต่ละมาตราว่าต้องการปรับแก้ อย่างไร และขอให้ สธ.ดำเนินการเตรียมมาตรการรองรับการตรวจละเอียดหากแพทย์ดำเนินการจริง และเรียกร้องแพทยสภาให้สอบสวนจริยธรรมของแพทย์ที่ใช้มาตรการวิชาชีพที่จำ เป็นต่อชีวิตข่มขู่ประชาชน



วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 22:19:19 น.  มติชนออนไลน์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน