เปิดเวทีวิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วยฯ “กลุ่มหมอ” เสนอตั้งกองทุนประชาสงเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย ด้าน “หมอวิชัย” ยันระบบไม่พิสูจน์ถูกผิด ลดการฟ้องร้องได้ทั้งคดีอาญา-แพ่ง
วันที่17 .ก.ย. ที่ห้องประชุมนายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีการจัดการประชุมประชาพิจารณ์ในหัวข้อ “วิเคราะห์เจาะลึกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณ สุข พ.ศ. ....” โดยมี ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวเปิดการประชุม และมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เข้าร่วมด้วย อาทิ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) นพ.ชัยวัน เจริญโชคทวี ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล นายสุกฤษฏิ์ กิติศรีวรพันธุ์ อนุกรรมาธิการประกันสังคม วุฒิสภา ตลอดจนตัวแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติวิชาชีพทางเวชกรรม เข้าร่วมด้วย
โดย ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนบุคลากรจากทุกสังกัด ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.มากขึ้น จากเดิมที่บางคนยังไม่ทราบรายละเอียดใน ร่าง พ.ร.บ.เลย ซึ่งวันนี้มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมกว่า 70% และต่างมองว่า หาก พ.ร.บ.นี้มีการประกาศใช้จะทำให้ภาษีที่ได้รับจากประชาชนถูกใช้อย่าง ฟุ่มเฟือย ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาการใช้เงินโดยไม่จำเป็น แพทย์ส่วนใหญ่จึงเห็นว่าควรมีการจัดตั้งกองทุนประชาสงเคราะห์ขึ้นเพื่อช่วย เหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
ขณะที่ นพ.วิชัยกล่าวว่า กรณี ของการคัดค้าน พ.ร.บ.นั้นเป็นเหมือนเหตุการณ์การคัดค้าน มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เกิดกฎหมายขึ้นมาอยู่ดี ทั้งนี้อยากขอชี้แจงเหมือนเดิมว่าหลักการของ พ.ร.บ.นั้น มีข้อดีที่เห็นได้ชัดในเรื่องของการช่วยเหลือผู้เสียหายโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด (No-fault liability compensation system) ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการฟ้องร้องด้วยระบบกล่าวหา และระบบไต่สวน เหมือนเก่า ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้ค่าเสียหายส่วนใหญ่กว่า 80% ต้องหมดไปกับการต่อสู้คดีในชั้นศาล ส่วนรายละเอียดที่กลุ่มแพทย์เสนอให้แก้ไขนั้น สามารถไปดำเนินการได้ในชั้นกรรมาธิการ
“เชื่อว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ออกมาแล้วมีข้อดีทั้งหมด อย่างน้อยต้องมีบางส่วนที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า มันจะดำเนินการได้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม ทั้งนี้จากการพิจารณามองว่า พ.ร.บฉบับนี้ลดการฟ้องร้องได้ทั้งคดีแพ่งและอาญา โดยเฉพาะในมาตรา 34 มีการระบุชัดเจนว่าเมื่อผู้เสียหายได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายแล้วให้ยุติการ ฟ้องร้อง หรือถ้าจะฟ้องร้องก็กำหนดให้มีหน่วยงานรับรองที่ชัดเจน” นพ.วิชัยกล่าว
ด้าน นพ.ชัยวัน เจริญโชคทวี กล่าว ว่า ถ้าจุดประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯนั้นสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ผู้ ให้บริการสาธารณสุขและผู้รับบริการฯ ได้จริง วันนี้คงไม่ต้องมานั่งถกกันอย่างนี้แน่นอน อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับ เป็นเหมือนตัวล่อหมอให้ยอมรับผิด จึงควรที่จะมีการปรับหลักการใน พ.ร.บ.ใหม่ให้ตรงกับจุดประสงค์ที่แท้จริง
ขณะที่ นายสุกฤษฏิ์ กิติศรีวรพันธุ์ อนุ กรรมาธิการประกันสังคม วุฒิสภา กล่าวว่า การที่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาฯออกมานั้นเท่ากับว่าประเทศไทยล้มเหลวในเรื่องของ ความเสมอเรื่องภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่าย ในเรื่องของการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการรับบริการ สาธารณสุข ให้เกิดขั้นกับบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ความพยายามในการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายให้ออกมาเป็นเอกเทศ โดยให้บุคคลที่ไม่มีความสามารถในการตรวจสอบระบบกองทุน ขึ้นมาเป็นกรรมการกองทุนนั้น จะเป็นอันตรายต่อกระบวนการตรวจสอบในระบบราชการ
“การ ตั้งบุคคลที่ไม่รู้เรื่องการตรวจสอบขึ้นมามีส่วนร่วมในกรรมการกองทุนเท่ากับ ว่า เป็นการตั้งให้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องระบบราชการเลยให้กลายมาเป็นผู้มีอำนาจ เหนือข้าราชการ ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนความคลาดเคลื่อนเรื่องความถูกต้อง และโปร่งใสในกองทุนเงินที่มี” นายสุกฤษฏิ์กล่าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 กันยายน 2553