Consumerthai – 24 ส.ค. เครือข่ายผู้เสนอกฎหมาย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดสภาปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ห้องประชุมนนทรี โรงแรมทีเค พาเลส กรณี(ร่าง)พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข โดยมีนักกฎหมาย ประชาชน เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยมีฉันทมติต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าว 5 ประเด็นคือ ประเด็นแรกลักษณะความเสียหายและเพดานการชดเชย ซึ่งได้มีการเสนอให้ตัด มาตรา 6(2) เพราะจะทำให้ยุ่งยากในการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินชดเชย และไม่เป็นผลดีกับแพทย์ และควรมีการขยายเพดานการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 และค่าชดเชยจากความทุกข์ทรมานด้านจิตใจตาม มาตรา 7(4) ควรมีความชัดเจนว่าเป็นความทุกข์ทรมานด้านจิตใจญาติหรือผู้ป่วย และเพดานการชดเชยความเสียหายนั้น ควรมีเพดาน พิจารณาให้เหมาะสม ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป
ประเด็นที่สองเรื่องของลักษณะโครงสร้างกรรมการ สำนักงาน ยังมีแนวคิด อยู่สองแนวทางว่าควรจะอยู่ตรงไหน ในเรื่องของสำนักงาน แต่ต้องเป็นหน่วยงานอิสระ
ประเด็นที่สามที่มาของกองทุนนั้น มีความเห็นว่าอาจมาจาก 3 กองทุนนั่นคือ หลักประกันสุขภาพฯ (มาตรา 41) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม โดยมีกรรมการบริหารกองทุนแยกเป็นอิสระ และให้ สปสช.เป็นฝ่ายเลขา
ประเด็นที่สี่เรื่องการไกล่เกลี่ยและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ภาคประชาชนมีความเห็นว่า เห็นด้วยกับร่างของรัฐบาลที่มีการไกล่เกลี่ย แต่ก็ยังมีความกังวลว่า การไกล่เกลี่ยนั้น ต้องไม่ใช่ลักษณะการเกลี้ยกล่อม ไม่ใช่การต่อรอง เพราะผู้เสียหายส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์และอาจไม่มีความพร้อม
และประเด็นที่ห้าท้ายคือระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย ภาคประชาชนเห็นด้วยกับร่างของรัฐบาล พร้อมมองถึงแนวทางการพัฒนาระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม ว่าอยากให้บุคลากรทางการแพทย์มีการกระจายตัวสู่ชนบทมากขึ้นและเพิ่มค่าตอบแทนด้านวิชาชีพอย่างเหมาะสม และเพิ่มความถี่การติดตามคุณภาพของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการฯ ในระดับจังหวัด รวมถึง การนำกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างร่วมกัน
กล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขว่า สปสช.สนับสนุนกฎหมายตัวนี้ เพราะจากประสบการณ์ 7 ปีของ ม.41 ซึ่งแม้เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นยังสามารถลดการฟ้องร้องได้ จะไม่ทำให้เกิดการฟ้องหมอมากขึ้น เหมือนที่มีหมอบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพราะจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า จากคำขอค่าช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้เสียหายตามมาตรา 41 ตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือน ก.ค.2553 นั้น 3,284 ราย เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือ 2,719 ราย มีคำขอที่ไม่เข้าเกณฑ์ 565 คำขอจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปทั้งสิ้น 296,446,183 บาท และมีการฟ้องร้องต่อเพียง 37 รายเท่านั้น
“ใน 37 รายนี้ 11 รายเป็นการฟ้องของผู้ที่คำขอไม่เข้าเกณฑ์มาตรา 41 คิดเป็นร้อยละ 1.95 ของคำขอที่ไม่เข้าเกณฑ์ อีก 26 รายเป็นการฟ้องของผู้ที่คำขอเข้าเกณฑ์และได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.96 ของผู้ที่ได้รับค่าชดเชยเบื้องต้นไปแล้วเท่านั้น”
เลขาฯ สปสช.ยืนยันว่า ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียงหายฯ เป็นการต่อยอดจาก มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะครอบคลุมประชาชนทุกคน และเป็นการจ่ายค่าชดเชยเพิ่มจากที่เดิมได้แค่เงินช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อถูกถามว่า คิดอย่างไรกับการนำเงินกองทุน มาตรา 41 มาดูแลคนทั้งประเทศแทนการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนของโรงพยาบาลเอกชน เลขาธิการ สปสช. เห็นว่า เงินกองทุน มาตรา 41 มาจากภาษีอากร ซึ่งผู้เสนอควรตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมรับผิดชอบ
“หากให้ สปสช.เอาเงิน ม. 41 ไปครอบคลุมคนทั้งประเทศ เงินที่จะส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยก็จะน้อยลง หลักการเรื่องนี้ คือ ต้องร่วมรับผิดชอบ ถ้าสถานบริการเอกชนไม่ต้องจ่าย ก็จะกลายเป็นภาระของรัฐซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น”
ดร.นนทวัชร์ นวตะกูลพิสุทธิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการออกมาเคลื่อนไหวคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น เป็นเรื่องธรรมดาเพราะกระทบต่อผลประโยชน์ จะเห็นได้จากการจะออกประกาศใช้กฎหมายตัวใหม่ๆ ตั้งแต่ พรบ,หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นต้นมา
“สถานการณ์ที่ผ่านมา ก่อนจะมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ผู้เสียหายต้องการคำอธิบาย ต้องการความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาสถานพยาบาลไม่ได้รับผิดชอบหรือให้คำอธิบายเลย เหมือนกับสถานพยาบาลผลักให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องหาความยุติธรรม หาคำอธิบาย หรือบางรายเรียกร้องหาความเป็นธรรมจากสังคม เช่น แห่โลงศพไปสถานพยาบาล แบบที่เราเห็นกันอยู่ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการเยียวยา และคำอธิบายเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงหลักการตรากฎหมายว่าจะต้องมีการเยียวยาเบื้องต้นกับผู้เสียหายโดยทันทีและเป็นธรรม แต่ทุกความเสียหายไม่ใช่ว่าจะได้รับการเยียวยาทั้งหมด เพราะจะมีเกณฑ์การพิจารณาอยู่แล้ว
“หลักการของร่างกฎหมายตัวนี้ไม่ใช่กฎหมายใหม่ เป็นเพียงกฎหมายที่ต่อยอดจากกฎหมายอื่นๆ แต่เป็นตัวที่จะมาช่วยเสริมกฎหมายตัวอื่นๆให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อลดการฟ้องร้อง อย่างเช่นการต่อยอดจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่เดิมคุ้มครองและเยียวยาเบื้องต้นเฉพาะผู้ถือสิทธิบัตรทองเท่านั้น ......”
ทางด้านนางคมเนตร์ เตียงพิทยากร รองผู้อำนวยการฝ่ายการเงินการคลัง โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นกล่าวว่า ช่วงวิกฤตที่ผ่านมา บุคลากรของโรงพยาบาลต้องเผชิญแรงกดดันและความตึงเครียดอย่างมาก ทั้งการต้องดูแลเยียวยาคนไข้ การจับตาของสื่อและสังคม ซึ่งการเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ไม่เพียงพอและยังจำกัดเพียงสิทธิบัตรทองเท่านั้น ดังนั้น ร่าง พรบ.ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับสถานพยาบาล และอยากให้คงคณะอนุกรรมการจังหวัดไว้ เพราะทำงานมีพัฒนาการอย่างมาก ทำงานมีประสิทธิภาพ
“อยากให้ย้อนกลับมาเน้น humanized healthcare หรือการดูแลประชาชนด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ดูแลคนไข้เป็นองค์รวม ไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายตกหรือผ่าน แต่บุคลากรทางการแพทย์ควรดูแลคนไข้ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวถึง การที่ต้องมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ฯนั้นเพราะปัจจุบันมีเพียงการให้การช่วยเหลือ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมกับทุกคน ฉะนั้นมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เน้นการชดเชยเยียวยาที่รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อคุณหมอด้วย ไม่ใช่ทำให้เกิดการฟ้องร้องหมอขึ้นแบบที่หมอออกมาคัดค้าน
“การที่หมออกมาคัดค้านไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ก็ออกมาคัดค้าน และทราบข่าวมาว่าเตรียมตัวแก้พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และ(ร่าง)พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ออกมาคัดค้านกันมาก
โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่อยากใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะจะได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียอวัยวะหรือไม่ก็ต้องเสียชีวิต และต้องมีความเจ็บป่วยที่ต่อเนื่อง และคงไม่มีใครอยากจะใช้กฎหมายฉบับนี้ อย่างแน่นอน ที่สำคัญชีวิตหลังความเสียหายของคนเหล่านี้ไม่เป็นชีวิต” น.ส.บุญยืนกล่าว
นางคมเนตร์ เตียงพิทยากร รองผู้อำนวยการฝ่ายการเงินการคลัง โรงพยาบาลศูนย์ ขอนแก่น กล่าวถึงในฐานะสถานพยาบาลต่อ เหตุการณ์มีผู้ติดเชื้อจากการผ่าตัดต่อกระจกที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลว่าทางโรงพยาบาลก็ได้รับกดดัน แต่ทีมของโรงพยาบาลต้องกล้าที่จะขอโทษ และขอรับผิดชอบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทันที และต้องพูดคุยอธิบายกับครอบครัวของผู้เสียหายให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องไม่หนีจากสถานการณ์ หนีจากปัญหา
“อยากบอกกับสถานพยาบาลต่างๆว่า เรื่องบางอย่างไม่จำเป็นต้องรอการพิจารณาตามสิทธิทางกฎหมาย นั่นคือ ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกมาก่อนถึงจะมีการเยียวยา อยากให้นึกถึงหลักมนุษยธรรมที่เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว อยากให้ทางสถานพยาบาลเยียวยาเบื้องต้นต้องช่วยตัวเองไปก่อน อย่างน้อยก็ช่วยลดความร้อนแรงได้และลดความเครียดของผู้ป่วยและญาติ เพราะความเสียหายไม่ได้เกิดแค่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่นั่นคือความเสียหายของครอบครัวทั้งครอบครัว บางรายต้องมาเฝ้าก็ไม่ได้ทำงานต้องสูญเสียรายได้ และเมื่อถึงการเยียวยาตามสิทธิทางกฎหมายก็อยากให้นึกถึงการเยียวยาสูงสุดตามสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย เพื่อชดเชยชีวิตเหลืออยู่ของผู้เสียและครอบครัว ” นางคมเนตร์กล่าว
ปาฐกถา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ-สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
โดย ศ.นพ.วิทูรย์ อึ้งประพันธ์
ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คลิป 1
|
คลิป 2
|
คลิป 3
|
คลิป 4
|
คลิป 1
|
คลิป 2
|
คลิป 3
|
สรุป ฉันทามติ สภาผู้บริโภค |
Test
ดาวโหลดเอกสารวิทยากร