บริการสุขภาพ

เปิดสภาปฎิรูประบบบริการสาธารณสุข ถกกรณี (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย

Consumerthai – 16 ส.ค. เครือองค์กรผู้บริโภคประกอบด้วย เครือข่ายมะเร็ง  ชมรมเพื่อนโรคไต  เครือผู้เสียหายทางการแพทย์  เครือข่ายจิตเวช  เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เตรียมเปิดสภาปฎิรูประบบบริการสาธารณสุข กรณี (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ.ในวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ณ ห้องประชุมนนทรี  โรงแรม  ทีเค. พาเลซ  แจ้งวัฒนะ 15  ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่  กรุงเทพฯ เวลา 08.30-16.30

เป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วโลกว่า ความผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical Error) สามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะให้การรักษาอย่างดีที่สุดตามมาตรฐานวิชาชีพแล้วก็ตาม จึงควรมีกลไกการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการฟ้องร้อง สร้างความเป็นธรรม ลดความเลื่อมล้ำ ที่มีอยู่ และนำข้อผิดพลาดมาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการบริการให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อ 10,000 ชื่อเสนอกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... อีก ๖ ฉบับ โดยมีหลักการและเจตนารมณ์เดียวกัน เตรียมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติ

ขณะนี้ได้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยพยายามเบี่ยงเบนประเด็นอย่างมีอคติ เจตนาให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... เช่น หากกฎหมายมีผลบังคับใช้แพทย์จะถูกฟ้องร้องมากขึ้น  แพทย์จะถูกฟ้องอาญา จะทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้น เป็นต้น และ มีความพยายามในการยับยั้ง (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดข้อขัดแย้งข้อกังขาในระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

โดยวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อ 1) สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อ (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... 2.)เผยแพร่ (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจอย่างกว้างขวาง 3.)ระดมความคิดเห็นหาฉันทามติต่อ (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...

รูปแบบการจัดงานครั้งนี้จะมีการนำเสนอข้อเท็จจริง เกี่ยวกับร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ… และอภิปรายประเด็นสำคัญที่มีข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน ในร่าง กฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งระดมความคิดเห็นหาฉันทามติต่อกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน

โดยเป้าหมายการจัดงานครั้งนี้เป็นเครือข่ายโรคมะเร็ง  ชมรมเพื่อนโรคไต  เครือผู้เสียหายทางการแพทย์  เครือข่ายจิตเวช  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค  เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี  ผู้แทนวิชาชีพด้านสาธารณสุข  นักวิชาการด้านสาธารณสุข  เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ  องค์กรภาครัฐ  สื่อมวลชน  และ ประชาชนผู้สนใจทั่วไป สามารถสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ติดต่อสำรองที่นั่ง
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

(ร่าง) กำหนดการ
สภาปฎิรูประบบบริการสาธารณสุข
กรณี (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
วันที่ 24 สิงหาคม 2553 เวลา 08.30-16.30

08.30-09.00 น. ลงทะเบียน
09.00-09.15 น. เปิดงาน
โดย...รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
09.15-09.45 น. ปาฐกถา “พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ: สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ”
โดย...นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน
09.45.-10.00 น. รับประทานอาหารว่าง
10.00-10.15 น. ชมวีดีทัศน์ “บทเรียน ขอนแก่นโมเดล”
10.15.-10.45 น. ความจริงเรื่อง (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
โดย...นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ**
10.45-12.00 น. อภิปราย “ประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้จาก พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ”
- คุณูปการของ มาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โดย...นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ**

- สาระและความจริงในร่างกฎหมาย
โดย...ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- สถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพ ได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากกฎหมายฉบับนี้
โดย...นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น

- ประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้างจากกฎหมายฉบับนี้

โดย...นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก
ดำเนินรายการโดย...
นางสาววกรรณิการ์ กิติเวชกุล ผู้จัดการวิทยุเช้าทันโลก FM 96.5
12.00-13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00-15.00 น. ประชุมกลุ่มย่อย เพื่อหาฉันทามติ 5 ประเด็นสำคัญของ (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

ห้องย่อยที่ 1: ความเสียหายแบบไหนที่ควรชดเชย การชดเชยควรมีเพดานหรือไม่
ประธาน น.พ.สุธีร์ รัตนมงคลกุล  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เลขานุการ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิด้านเอดส์

ห้องย่อยที่ 2: โครงสร้างกรรมการ สำนักงาน หน้าตาอย่างไร ถึงจะดีที่สุด
ประธาน ดร. วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาล**
เลขานุการ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์

ห้องย่อยที่ 3: ที่มาเงินสมทบกองทุน บริหารอย่างไร โปร่งใส มีประสิทธิภาพ
ประธาน นพ. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เลขานุการ ทพญ. ดร. ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฏ์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

ห้องย่อยที่ 4: การไกล่เกลี่ยและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีควรเป็นอย่างไร
ประธาน
ผศ. ดร.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
เลขานุการ นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้ประสานองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ห้องย่อยที่ 5: การพัฒนาระบบความปลอดภัย และ ป้องกันความเสียหาย
ประธาน นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย
เลขานุการ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
15.00-16.00 น. นำเสนอฉันทามติใน 5 ประเด็นสำคัญของ (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
ประธานรับฟังฉันทามติ โดย...นพ. อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
16.00-16.20 น. สรุปและส่งมอบฉันทามติต่อ...
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข**

เครื่องหมาย * อยู่ระหว่างการประสานงาน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน