บอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดสรรงบช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการ 2.68 บาทต่อคน หรือ 125 ล้านบาท เผยเยียวยากว่า 500 ราย ใช้งบ 60 ล้าน ส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากคลอดบุตร
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รอง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดให้มีการกันเงินงบประมาณได้ไม่เกิน 1% ของงบฯ ทั้งหมดของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี สำหรับใช้ในการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจาก การรักษาพยาบาล แต่จากความเป็นจริงที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณจ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 287 ล้านบาท หรือใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีการตั้งงบฯ ช่วยเหลือเบื้องต้นฯ จะพิจารณาจากความจำเป็น สำหรับปีงบประมาณ 2554 พบว่ามีแนวโน้มผู้ใช้บริการยื่นคำร้องมากขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2554 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติอนุมัติงบรายหัวสำหรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการตามมาตรฐาน 41 จำนวน 2.68 บาทต่อหัวประชากรเป็นเงินประมาณ 125 ล้านบาทเพื่อใช้ในการจ่ายค่าชดเชยเบื้องต้น
นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ เสียหายตามมาตรา 41 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยคลอดบุตรที่ได้รับรับการช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าสถานการณ์การใช้ระบบบริการสุขภาพของประชาชนในปี 2552 พบมีประชาชนเข้าใช้บริการผ่าท้องคลอดของหญิงตั้งครรภ์สูงถึง ร้อยละ 25 ส่วนมากเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ สวปก.พบว่า ในปี 2551 มีอัตราการใช้บริการร้อยละ 30 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 ในปี 2552 ขณะที่โรงเรียนแพทย์มีอัตราลดลง โรงพยาบาลรัฐขนาดน้อยกว่า 100 เตียงมีอัตราคงที่ และสำหรับโรงพยาบาลรัฐขนาดมากกว่า 100 เตียงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อัตราการผ่าคลอดที่สูงขึ้นอาจมีสาเหตุจากคนไทยตั้งครรภ์ในช่วงอายุ ที่มากขึ้น
นพ.ประทีปกล่าวว่า ถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขด้วยว่า จากประสบการณ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยืนยันว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นทำให้ปัญหาคลี่คลายผู้เสียหายและ แพทย์เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่ายลดการฟ้องร้องแพทย์ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายนี้ถือเป็นการขยายต่อยอดจาก มาตรา 41 ให้ครอบคลุมผู้ถือสิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการด้วย ไม่เฉพาะผู้ถือสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น และหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สปสช.พร้อมที่จะโอนภารกิจและงบประมาณที่เหลืออยู่ตามมาตรา 41 ไปอยู่ในหน่วยงานตาม พ.ร.บ.ใหม่ที่จะเป็นองค์กรกลาง แต่หากไม่มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ สปสช.ก็พร้อมที่จะบริหารจัดการต่อไป
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 กรกฎาคม 2553 11:26 น.
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต