บริการสุขภาพ

ภาคประชาชนประกาศจุดยืน ต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....

ภาคประชาชนประกาศจุดยืน ต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายฯ ....นัดชุมนุมแน่นอนวันที่ 5 ตุลานี้ เวลา 07.00 น . ที่รัฐสภา พร้อมย้ำกระทรวงสาธารณสุข หมดเวลายื้อกฎหมาย

จุดยืนองค์กรประชาชน ต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....

กฎหมายฉบับนี้ ยึดหลักการไม่เพ่งโทษของผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้บริการ แต่ยอมรับว่า ความผิดพลาด ความบกพร่องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากผู้ประกอบวิชาชีพ และจากระบบบริการสาธารณสุขที่ยังไม่สมบูรณ์  เช่น ความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่จบใหม่ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ การกระจายของแพทย์ที่ยังไม่ดี การขาดแคลนอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ

ดังนั้นจึงไม่ให้ความสำคัญกับการพิสูจน์ว่าใครถูกใครผิด หรือเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ แต่เน้นพิสูจน์ ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงจากการรับบริการหรือไม่ แม้แต่กรณีการรักษาที่ได้มาตรฐานแต่มีความเสียหายเกิดขึ้นจริง เช่น กรณีผ่าตัดเลาะผังพืดในท้องแล้วพลาดไปโดนท่อไต ทั้ง ๆ ที่ทำเต็มที่แล้ว ในทางวิชาการก็ยอมรับว่าเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ไม่ถือเป็นความผิด หรือประมาท (Acceptable adverse effect)

นอกจากนี้ความเสียหายสำคัญที่เกิดขึ้น จากการรับบริการไม่ได้มีใคร หรือบุคคล หรือหน่วยงานใดตั้งใจทำให้เกิดความเสียหาย จึงควรต้องมีระบบหรือกลไกรับผิดชอบแทนผู้ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ หากจะรับผิดแทนผู้ประกอบวิชาชีพในโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องจ่ายสมทบ แล้วนำความเสียหายเป็นบทเรียนในการป้องกันความเสียหายในอนาคต


ความเสียหายที่ไม่คุ้มครอง ตามมาตรา ๖

๑.      ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินไปตามพยาธิสภาพของโรค ตามปกติธรรมดาของโรคนั้น

๒.    ความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการรักษาแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ(ภาคประชาชน)


โครงสร้างกรรมการทุกคณะ รวมทั้งบทเฉพาะกาล

ยึดหลักคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบของสัดส่วนที่เป็นธรรมระหว่างสถานพยาบาล หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพ กับผู้ป่วยหรือองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ


กองทุน

ต้องรวมสถานบริการเอกชน เช่น โรงพยาบาลเอกชน โดยจ่ายสามารถจ่ายสมทบเมื่อมีการต่อใบอนุญาตแต่ละปี

๑.      เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองผู้เสียหายทุกคนที่ไปรับบริการสาธารณสุข ไม่ว่าไปรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชน จะใช้สิทธิอะไรก็ตามหรือจ่ายเงินเอง ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศให้ระบบสวัสดิการข้าราชการสามารถเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนได้

๒.    ต้องร่วมจ่ายตามความเสี่ยง และลดการจ่ายหากมีความเสี่ยงน้อย

๓.     หากไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลเอกชน/คลินิกเอกชน จะขัดต่อหลักนิติรัฐ มีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคม

๔.     ยืนยันว่าการดำเนินเรื่องนี้เป็น “สิทธิ” ของทุกคน ไม่เลือกยากดีมีจน


สำนักงาน

ควรเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่เป็นหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสำนักงานจะไม่มีส่วนได้เสียในการให้บริการสาธารณสุข


ข้อเสนออื่น ๆ ต่อกระทรวงสาธารณสุข

๑.      กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วให้ทันการประชุมในสมัยนิติบัญญัตินี้ เพราะหากพิจารณากฎหมาย ฉบับอื่นที่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้ทันและรวดเร็ว

๒.    กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการกำลังคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น และกระจายอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนประชากร ตลอดจนปรับปรุงอักตราการจ่ายเงินชดเชยกรณีไม่สามารถใช้ทุนได้

๓.     การปรับปรุงระบบการส่งต่อ การรักษากรณีฉุกเฉิน การพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิให้มีศักยภาพในการลดความเสียหายจากบริการสาธารณสุข

วันที่ 28 กันยายน 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน