Consumerthai -เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้หนุน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ และเป็นการต่อยอดจาก มาตรา 41.ของ พ.รบ.พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นักกฏหมายชี้หมอไม่ต้องกังวล
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมาในเวที “แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....” ซึ่งจัดโดยสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.มอ.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คคส.) ณ ห้อง ข-ลา โรงแรมเอเชี่ยน หาดใหญ่ โดยมีนายแพทย์พงษ์พิสุทธิ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) นางสาวชโลม เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ นพ.อมร รอดคล้าย จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 12 จ.สงขลา นายเลอศักดิ์ ดุกสุกแก้ว รองอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา เข้าร่วมเสวนา
นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ให้ข้อมูลและภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ที่กล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่าร่าง พ.ร.บ. มุ่งเน้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ การมีกองทุนชดเชยเยียวยา เงินกองทุนจะมาจาก เงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชน เงินสมทบจากสถานพยาบาลของรัฐและสภากาชาดไทย เงินสมทบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 (ถ่ายโอนมายังกองทุนใหม่) ซึ่งอัตราเงินทดแทนจะมีความสัมพันธ์กับความเสียหาย
นางสาวชโลม เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่าการมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯมีแนวความคิดมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาเป็นฐานคิด พัฒนาการจนกระทั่งในปัจจุบันที่ผ่านมา เรามีกลไกเยียวยาบางส่วน คือ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ขาดความครอบคลุม และยังมีอีกหลายร่างกฎหมายที่รอการผลักดัน เช่น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข
นายแพทย์อมร รอดคล้าย จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 12 จ.สงขลา อยากให้ภาคประชาชนนำเสนอคือ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาวะ ให้เป็นร่าง พ.ร.บ.เดียว จะสามารถครอบคลุมได้ทุกคน ทุกเรื่อง และเห็นว่า ควรรับฟังทุกเสียงสะท้อนจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และต้องแก้ไขที่การปฏิรูประบบสาธารณสุข
นายแพทย์เพิ่มบุญ จิรยศบุญยศักดิ์ จากโรงพยาบาลสงขลา กล่าวถึง มาตรา 7 เรื่องของสัดส่วนและที่มาของคณะกรรมการเยียวยา มาตรา 25 เรื่องอายุความในการของเยียวยาความเสียหายที่กำหนด 3 ปี นับตั้งแต่รู้ความเสียหาย แต่ไม่เกิน 10 ปี ตั้งแต่เกิดความเสียหาย นายแพทย์เพิ่มบุญ รู้สึกว่า อาจทำให้หมอไม่อยากรักษาคนไข้ รู้สึกท้อแท้ อยากเห็นคนออกกฎหมาย ออกกฎหมายดีๆๆ...ไม่ทำลายจิตวิญญาณของคนให้บริการ
นายเลอศักดิ์ ดุกสุกแก้ว รองอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คุณ หมออาจจะกังวลกับร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพศ... มากเกินไป จริงๆน่าจะไปกังวลกับ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่ง เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2551 มากกว่า เพราะพรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เป็นกฎหมายที่ฟ้องร้องได้ง่ายสามารถเดินไปฟ้องร้องได้ด้วยปากเปล่าไม่ต้องมี การแต่งตั้งทนาย และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯฉบับนี้จะเป็นตัวที่จะช่วยหมอ หากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมส่งผลดีต่อการพิจารณาลงโทษของศาลได้
ด้านนายจุมพล ชื่นจิตต์สิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เห็นว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ที่ผู้ป่วยฟ้องส่วนมากน่าจะมีปัญหาจากส่วนบุคคลมากกว่า ควรทำความเข้าใจกับสภาวิชาชีพว่า ที่ผ่านมาหมอถูกฟ้อง หรือ หน่วยงานถูกฟ้อง และตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีกลไกเพียงพอหรือไม่ต่อการเยียวยาปัญหาความผิดพลาดทางการแพทย์