Consumerthai – 11 ส.ค. สมัชชาคนจนจัดแถลงข่าว ณ สำนักงานคริสเตียนกลาง นำโดยนายบุญมี คำเรือง นายเขมทัศน์ ปาลเปรม เรียกร้องให้รัฐบาลต้องเร่งออก พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
นายเขมทัศน์ กล่าวถึงการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าสมัชชาคนจนเป็นองค์กรชาวบ้านองค์กรหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวผลักดันในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้
“เราเห็นว่าที่ผ่านมามีผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนไม่น้อย ไม่เคยได้รับการดูแลทำให้เป็นภาระแก่ครอบครัวเป็นอันมาก จนกระทั่งมี พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ที่มีบทบัญญัติในมาตรา ๔๑ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายและครอบครัวเป็นอันมาก และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ดีขึ้น ดังนั้นหากมี พรบ.นี้ ที่มีการช่วยเหลือมากกว่าเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น และอยากให้รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว” นายเขมทัศน์ กล่าว
นายบุญมี คำเรือง กล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯว่า หากกฎหมายตัวนี้ผ่านเข้าสภาฯได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งกับหมอและกับชาวบ้านอย่างมาก
“ตามกฎหมายนี้นะครับ มาตรา 45 ,33 ,38 จะคุ้มครองคุณหมอด้วย ต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ความจริงแล้วชาวบ้านไม่ได้อยากฟ้องหมอหรอกครับ หากไม่สุดวิสัยจริงๆ” นายบุญมีกล่าว
พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์และเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยเร่งด่วน เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน 2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งทำความเข้าใจกับบุคคลากรที่ออกมาคัดค้าน 3.ขอให้ผู้คัดค้านหยุดเฉไฉปล่อยข่าวใส่ร้ายทำลายความชอบธรรม แต่ได้โปรดหันหน้ามาทำความดีร่วมกันจะเป็นการสมานฉันท์อย่างแท้จริง
แถลงการณ์
รัฐบาลต้องเร่งออก พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งทำความเข้าใจ
ผู้คัดค้านต้องหยุดเฉไฉ
ผู้คัดค้านต้องหยุดเฉไฉ
จากการที่รัฐบาลได้เสนอร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ. .... ต่อรัฐสภา แต่ได้มีการรวมตัวของของบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งเพื่อคัดค้านร่าง พรบ.นี้ โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆนานา อาทิเช่น จะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ จะเกิดการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มมากขึ้น หรือว่าโรงพยาบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบต้องกลายเป็นภาระของโรงพยาบาล เป็นต้น
ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเหตุผลของฝ่ายที่คัดค้านนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลเดิม ๆ ที่ฝ่ายประชาชนผู้เสนอกฎหมายได้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริง ไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ฝ่ายผู้คัดค้านกลับไม่ยอมรับฟัง ยังคงย้ำคิดย้ำพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องอยู่เช่นเดิม ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนหรือออกมาทำความเข้าใจกับบุคลากรของกระทรวงแต่อย่างใด
สมัชชาคนจนเป็นองค์กรชาวบ้านองค์กรหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวผลักดันในการเสนอร่าง พรบ.นี้ เนื่องจากเราเห็นว่าที่ผ่านมามีผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนไม่น้อย ไม่เคยได้รับการดูแลทำให้เป็นภาระแก่ครอบครัวเป็นอันมาก จนกระทั่งมี พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ที่มีบทบัญญัติในมาตรา ๔๑ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายและครอบครัวเป็นอันมาก และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ดีขึ้น ดังนั้นหากมี พรบ.นี้ ที่มีการช่วยเหลือมากกว่าเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น
สมัชชาคนจนจึงใคร่ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องดังนี้
๑.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยเร่งด่วน เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน
๒.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งทำความเข้าใจกับบุคคลากรที่ออกมาคัดค้าน
๓.ขอให้ผู้คัดค้านหยุดเฉไฉปล่อยข่าวใส่ร้ายทำลายความชอบธรรม แต่ได้โปรดหันหน้ามาทำความดีร่วมกันจะเป็นการสมานฉันท์อย่างแท้จริง
ด้วยจิตคารวะ
สมัชชาคนจน
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
สมัชชาคนจน
๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓