บริการสุขภาพ

เครือข่ายผู้บริโภค ยืนยัน กฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยลดการฟ้องร้องแพทย์ เรียกร้องแพทยสภาเปิดเผยความจริงการคัดค้าน กม.

530709-consumers5เครือข่ายผู้บริโภค ยืนยัน กฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยที่เสียหายเพื่อลดการฟ้องร้องแพทย์ เรียกร้องแพทยสภาต้องพูดความจริง ถามใจโรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าเปิดเผยตัวเลขรายได้หรือ วอนสาธารณชนศึกษากฎหมายอย่างถ่องแท้ อย่าถูกปั่นจนตระหนก พร้อมเปิดสภาผู้ป่วย 24-25 สิงหาคมนี้

 

Consumerthai – 9 ก.ค.53  เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ชมรมผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)แถลงยืนยัน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...” เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นหนึ่งในเจ็ด กฎหมายจะเข้าสู่พิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้า (เดือนสิงหาคม) เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ โดยจะช่วยไม่ให้เกิดการฟ้องแพทย์ เพราะคนไข้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการชดเชยจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายฉบับนี้ คือ คนไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งแพทย์และผู้ป่วย โดยจัดขึ้น ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติ  กระทรวงสาธารณสุข

 

530709-consumersผศ.ดร.ยุพดี ศิริสมสุข กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขว่า ที่ผ่านมา มีข่าวและความเห็นที่สร้างความเข้าใจผิดในสาระสำคัญอย่างมากซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อกลุ่มแพทย์และสาธารณชนโดยรวม ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้มีหลักการสำคัญสามหลักการ

 

“ประการแรกกองทุนชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุขเพื่อลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ที่ครอบคลุมผู้รับบริการในทุกสิทธิการรักษา เพราะเป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วโลกว่า ความผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical Error) นั้น สามารถเกิดขึ้นได้

ประการที่สองคณะกรรมการกลาง และสำนักงานที่เป็นอิสระ โดย องค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีองค์ประกอบจากผู้แทนสถานพยาบาล และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานคุ้มครองสิทธิด้านบริการสุขภาพ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนจากสมาคมวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพ เพราะบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการ คือ การพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุขจริงหรือไม่ โดยไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด และไม่เกี่ยวพันกับการสอบสวนหรือลงโทษโดยสภาวิชาชีพ เพื่อให้การชดเชยเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรมและต้องใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์ และประการที่สาม ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทย” ผศ.ดร.ยุพดีกล่าว

530709-consumers2น.ส. สุภัทรา นาคผิว ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ด้านเอดส์ กล่าวว่าปัญหาความกังวลในเรื่องการฟ้องอาญาแพทย์นั้น  หากดูจากข้อเท็จจริงไม่พบว่ามีคนไข้ที่อยากฟ้องอาญาแพทย์

“การฟ้องส่วนใหญ่เป็นการฟ้องโรงพยาบาลหรือไม่ก็เป็นกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่การฟ้องหมอ ดังนั้น แพทยสภาควรเปิดเผยข้อมูลการร้องเรียนที่ชัดเจน ออกมาบอกเลยว่าตอนนี้มีหมอกี่รายที่ถูกคนไข้ฟ้อง และถูกฟ้องในข้อหาอะไร ไม่ใช่สร้างความตระหนกให้เกิดในหมู่แพทย์โดยไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริง” ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ด้านเอดส์ กล่าว

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมว่าจากข้อมูลมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทั้งหมด 33 รายในปี 2552 ทั้ง 100% ไม่มีความประสงค์จะฟ้องอาญาแพทย์  และจากข้อมูลของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ที่มีผู้เสียหายที่เข้ามาปรึกษากว่า 600 ราย  มีเพียงไม่ถึง 10 รายที่จำเป็นต้องฟ้องอาญาเพราะการพิจารณาคดีโดยแพทยสภาล่าช้าจนทำให้เกิดปัญหาหมดอายุความ  ผู้เสียหายอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องเลือกฟ้องคดีอาญาเพื่อทำให้อายุความเพิ่มขึ้น

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตกตั้งข้อสังเกตการออกมาต่อต้าน ”ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...” และขบวนการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนขณะนี้ เคลื่อนไหวเป็นระบบอย่างผิดปกตินั้น มีความเกี่ยวเนื่องกับการหาเสียงเลือกตั้งแพทยสภาชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในต้นปีหน้าหรือไม่

“เราอยากให้แพทยสภาออกมาเปิดเผยความจริงและอยากให้พวกเราจับตาและตรวจสอบการคัดค้านการจ่ายเงินสมทบของโรงพยาบาลเอกชนนั้น เกี่ยวพันกับการที่โรงพยาบาลไม่ต้องการเปิดเผยรายได้ที่แท้จริงหรือไม่ เราอยากให้กฎหมายตัวนี้ออกมาโดยเร็ว” เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตกกล่าว

 

530709-consumers3ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวเน้นย้ำว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขนั้นมีความสำคัญอย่างมาก และจะเป็นตัวสานสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับหมอได้เป็นอย่างดี

 

“จากการทำงานของเครือข่าย 8 ปีที่ผ่านมาเหมือนยืนกันอยู่คนละฝั่งกับหมอ และไม่มีผู้ป่วยรายไหนที่อยากจะฟ้องหมอ เพียงแต่ขาดความเข้าใจระหว่างกันและเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ความเดือดร้อนจากผลการรักษาที่ผิดพลาดนั้นนอกจากจะเกิดกับตัวผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวบางคนถึงกับต้องหมดเนื้อหมดตัว อยากให้กฎหมายตัวนี้ออกมาและเชื่อว่ากฎหมายไม่ส่งผลให้หมอถูกฟ้องเยอะขึ้นอย่างแน่นอน” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

 

นอกจากนี้ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเตรียมจัดงาน “สภาผู้ป่วย” ในวันที่ 24-25 สิงหาคมนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการต้องมี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ออกมาเพื่อเป็นการปฏิรูปสังคมที่แท้จริง

 

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
แถลงการณ์จากแพทยสภากรณี ล้ม
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข

>> ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...

>> ระบบชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยไม่เพ่งโทษตัวบุคคล และไม่พิสูจน์ความผิด

>> สรุปประเด็นคัดค้านและความแตกต่าง (ร่าง) พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. …. ของภาคประชาชน และกระทรวงสาธารณสุข
>> กรอบแนวคิดหลักการของการจัดตั้งกองทุนชดเชย-ภาคประชาชน

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน