บริการสุขภาพ

แพทย์ชนบทสอนมวย “รมว.สธ.” แนะวิธีแก้ค่ารักษา รพ.เอกชนแพง เสนอใช้ ม.44 ควบคุม

580422
ชมรมแพทย์ชนบทสอนมวย "หมอรัชตะ" แก้ รพ.เอกชน คิดค่ารักษาแพง แนะออกประกาศห้าม รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินคนไข้ ญาติ ภายใน 72 ชม. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตั้ง คกก.ตรวจสอบ คกก.สถานพยาบาล ปฏิรูป รพ.รัฐ ให้มีประสิทธิภาพ เสนอใช้ ม.44 แก้ปัญหาค่ารักษาแพงเกิดประโยชน์กว่าคุมราคาหวย

ผู้สื่อข่าวรายงาน ชมรมแพทย์ชนบท โดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกแถลงการณ์กรณีการแก้ปัญหา รพ.เอกชนโก่งและคิดราคาค่าบริการแพง ว่า ชมรมฯ ไม่เห็นด้วยกับการยื้อเวลาและมาตรการหน่อมแน้มเสนอข้อมูลราคายาทางเว็บไซต์ พร้อมเสนอให้ยุติการเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยและญาติในกรณีฉุกเฉิน สนับสนุนการควบคุมค่ารักษาพยาบาล ค่ายา รพ.เอกชน ในกรณีไม่ฉุกเฉิน ยืนยันต้องมีมาตรการระยะสั้นภายใน 1 เดือน ดังนี้ 1. ให้ รมว. สธ. ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 35(4) ประกอบมาตรา 36 ของ พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือ ภายใน 72 ชม. ห้าม รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินหรือให้คนไข้ ญาติ เซ็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล เมื่อพ้น 72 ชม.แล้ว ให้ รพ.เอกชน มีหน้าที่ในการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ. ตามสิทธิ ในกรณีที่ รพ. ตามสิทธิเตียงเต็มให้ผู้บริหารทั้ง 3 กองทุน จัดหาเตียงรองรับผู้ป่วย หากไม่ได้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ให้ รพ.เอกชน ยอมรับอัตราค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินของ 3 กองทุน และให้มีบทลงโทษสำหรับ รพ.เอกชน ที่ไม่ทำตามเงื่อนไขดังกล่าว 2. สธ. ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า รพ. ไม่มีสิทธิบังคับผู้ป่วยและญาติให้เซ็นรับสภาพหนี้ เพราะเป็นสิทธิของประชาชนในการใช้บริการ รพ.เอกชน ในกรณีฉุกเฉินตามมาตรา 36 และตามประกาศว่าด้วยการใช้บริการในกรณีฉุกเฉิน 3 กองทุน และ 3. ห้ามสถานพยาบาลกักตัวผู้ป่วยในทุกกรณี หากฝ่าฝืนถือเป็นความผิดทางอาญา และให้ สธ. สนับสนุนผู้ป่วยในการฟ้องคดีสถานพยาบาลที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว

ข้อเสนอระยะกลาง คือ 1. ให้ รมว.สาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายและมีสัดส่วนภาคประชาชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งโดยมี รมว. หรือ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสถานพยาบาล และให้คณะกรรมการสถานพยาบาลรายงานผลดำเนินการต่อกรรมการชุดนี้ ทุก 2 เดือน 2. ให้ รมว.สาธารณสุข ปรับคณะกรรมการสถานพยาบาลในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวน 5 คน ให้เป็นผู้แทนจากภาคประชาชนที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เป็นผู้เสนอ 3. ให้คณะกรรมการสถานพยาบาลทำหน้าที่ ตามมาตรา 11(4) ในการควบคุมหรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานพยาบาล ให้รวมถึง การวินิจฉัย การรักษา ที่มากเกินความจำเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา หรือค่าใช้จ่ายที่แพงเกินจริง 4. ให้แก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมให้มีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 5. ปฏิรูปโรงพยาบาลของรัฐให้มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ บุคลากรมีความสุขในการให้บริการผู้ป่วยประชาชน เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของประเทศ 6. สนับสนุนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ในมาตรา 294(4) "ให้มีการพัฒนากลไกกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายา และค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ"

ม.44 หากนำมาใช้แก้ปัญหา รพ.เอกชน โกง และค้ากำไรเกินควร ในสินค้าที่ต้องใช้คุณธรรมขั้นสูง จะเกิดประโยชน์มากกว่าการควบคุมการขายลอตเตอรีเกินราคา และหากต้องการแก้ปัญหาจากรากเหง้าต้องแก้ที่ต้นตอ คือ มาเฟียในวงการแพทย์ โดยยุบบอร์ดแพทยสภาแล้วแก้องค์ประกอบของแพทยสภา เหมือนอารยะประเทศอื่นที่มีประสิทธิภาพด้านสุขภาพสูง เช่น อังกฤษ แล้วทุกปัญหาจะแก้ได้หมด รวมถึง พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหาย ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ฯลฯ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 พ.ค. 58

พิมพ์ อีเมล