ประธานธนาคารโลกชมไทย เดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
แม้มีข้อจำกัดงบประมาณ สร้างความยุติธรรมระบบสุขภาพ ช่วยคนจนเข้าถึงการรักษา แถมเป็นแบบอย่างนานาประเทศนายจิม ยอม คิม ประธานธนาคารโลก กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้า ฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 โดยชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทยในการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วน หน้าเพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ว่า ก่อนหน้านี้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ถูกมองว่าเป็นนโยบายที่เป็นไปไม่ได้และไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นในปี 2545 เนื่องจากก่อนหน้านี้ไทยประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 การเติบโตทางเศรษฐกิจทรุดลงอย่างมาก ค่าเงินบาทลดลงถึงร้อยละ 45 อัตราการว่างงานเพิ่ม และมูลค่าหุ้นขณะนั้นลดลงถึงสามในสี่ ซึ่งรัฐบาลต้องกู้เงิน 21,000 ล้านเหรียญ จากกองทุนเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เพื่อแก้วิกฤตทางการเงิน ซึ่งในขณะนั้นเสถียรภาพของรัฐบาลถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด การเสนอโครงการใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องท้าทายและทำได้ยาก และนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว โดยทางธนาคารโลกและองค์กรหลายหน่วยงานขณะนั้นต่างเห็นตรงกันว่า การดำเนินนโยบายในขณะนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แม้แต่องค์การอนามัยโลก นอกจากจะทำให้นโยบายไม่สัมฤทธิ์ผลแล้ว ยังจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะล้มละลายได้
ทั้งนี้ ด้วยกระแสคัดค้านการเดินหน้านโยบายจากหลากหลายองค์กรข้างต้นนี้ บางประเทศอาจหมดกำลังใจและล้มเลิกไป แต่ไม่ใช่ไทยที่ยังคงมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบาย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว ข้าราชการ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพดูแลคนไทย และจากข้อมูลปี 2544 พบว่าประเทศไทยยังมีคนจำนวนถึงหนึ่งในสามของประชากรที่ไม่มีประกันสุขภาพ โดยเฉพาะคนจนซึ่งทำให้เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล จากความตั้งใจดังกล่าวไม่เพียงแต่มีการเดินหน้านโยบายหลักประกันสุขภาพเท่า นั้น แต่ยังเกิดการรับรองสิทธิการเข้าถึงรักษาพยาบาลที่กำหนดให้เป็นสิทธิขั้น พื้นฐานในรัฐธรรมนูญ
“จากจุดเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนถึงขณะนี้ ได้มีการพัฒนาการบริการและสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยช่วงปีแรกของโครงการส่งผลให้คน 18 ล้านคน ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง” ประธานธนาคารโลก กล่าวและว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จ คือการเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เวลาสองทศวรรษ เพื่อขยายดูแลประชาชนในเขตชนบท
นายจิม ยอม คิม กล่าวว่า นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งทศวรรษของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นช่วงจังหวะที่ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง มีการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปทรัพยากรทางการคลังของประเทศที่มีอยู่ด้วยการแบ่งบัน ให้กับคนจน โดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เสนอระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ นอกจากนี้ยังได้รับการตอบรับจากประชาชนในประเทศ โดยร้อยละ 90 ของประชากรต่างมีความพอใจกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้กลายเป็นแรงผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณและการ พัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ขอชื่นชมประเทศไทยในการนำยาต้านไวรัสเอดส์เข้าบรรจุในสิทธิประโยชน์การรักษา พยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส ไม่เพียงแต่ทำให้มีสุขภาพที่ดี แต่ยังทำให้มีชีวิตทียืนยาวอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจากแต่เดิมผู้ติดเชื้อที่ยากจนเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงยาต้านไวรัส เอดส์ได้ ซึ่งการดำเนินการของประเทศไทยในเรื่องนี้ได้ส่งผลต่อนโยบายสุขภาพทั่วโลก
“แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ และพบว่ายังคงมีปัญหา ทั้งจากคนไทยที่ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และโรคไม่ติดต่อที่เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยต้องประสบความสำเร็จในการจัดระบบบริการสุขภาพ ที่มีคุณภาพและมีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือเป็นสิ่งล้ำค่า ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของข้าราชการ นักเคลื่อนไหว และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างอุทิศตนเพื่อสร้างความยุติธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งทุกครั้งที่ผมเดินทางไปทั่วโลก ผมจะบอกเล่าเรื่องราวระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ” ประธานธนาคารโลก กล่าว
ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 17 กุมภาพันธ์ 2557 |