สปส. เตรียมปรับเกณฑ์เบิกค่าคลอดบุตร เช่น ให้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมเบิก สปส. ได้ทันที ส่วนโรงพยาบาลนอกระบบจะเบิกตรง หรือผู้ประกันตนสำรองจ่ายก่อนก็ได้ โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเดือนธันวาคมนี้
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2555) นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่า โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมแห่งหนึ่งปฏิเสธการทำคลอดให้หญิงชาวขอนแก่น เนื่องจากสิทธิประกันสังคมไม่ครอบคลุม และเกรงว่าจะไม่มีเงินจ่าย ทำให้ผู้ประกันตนต้องคลอดบุตรเองที่บ้านจนเด็กเสียชีวิตนั้น ทาง สปส. จึงได้เร่งหาแนวทางปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ดังนี้
เมื่อผู้ประ กันตนคลอดบุตรที่โรงพยาบาลในระบบประกันสังคม ให้ทางโรงพยาบาลเป็นฝ่ายประสานมาที่ สปส. เพื่อให้ทาง สปส. จ่ายเงินค่าคลอดบุตรให้โรงพยาบาลทันทีหลังจากผู้ประกันตนคลอดบุตร โดยเรียกว่า การจ่ายข้างเตียง ส่วนกรณีผู้ประกันตนคลอดบุตรที่โรง พยาบาลนอกระบบประกันสังคม จะให้ สปส. จ่ายข้างเตียงหรือผู้ประกันตนสำรองจ่ายเงินก่อน แล้วนำมาเบิกเงินค่าคลอดบุตรจาก สปส. ภายหลังก็ได้
ส่วน กรณีผู้ประกันตนตั้งครรภ์และมีอาการโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ถือเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลตามเงื่อนไขข้อตกลงของทั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ซึ่งโรงพยาบาลที่ให้การรักษาและทำคลอดสามารถยื่นเรื่องเบิกเงินผ่านสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือจะยื่นเรื่องเบิกมายัง สปส. โดยตรงก็ได้ หรือกรณีค่าคลอดบุตรจะให้ สปส. จ่ายข้างเตียงก็ได้
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ทาง สปส. จะต้องทำเรื่องขออนุมัติจากคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส. เพื่อขอให้ สปสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางดูแลการรักษาและเบิกค่ารักษาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน ทำหน้าที่วินิจฉัยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของผู้ ประกันตนแทน สปส. เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำคำวินิจฉัยดังกล่าว มายืนยันอาการของผู้ประกันตน และสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเพื่อเบิกค่ารักษากับ สปสช. หรือ สปส. ได้
โดย ตนจะเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงแรงงานภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องเข้าบอร์ด สปส. ในเดือนธันวาคม หากได้รับความเห็นชอบ ก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2557