บริการสุขภาพ

ผู้ป่วย คือ ผู้บริโภค ?

ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้นิยมคำว่า ผู้บริโภค ไว้ดังนี้

 

 

“ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

“ซื้อ” หมายความรวมถึง เช่า เช่าซื้อ หรือได้มาไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น

“สินค้า” หมายความว่า สิ่งของที่ผลิตหรือมีไว้เพื่อขาย

“บริการ” หมายความว่า การรับจัดทำการงาน การให้สิทธิใด ๆ หรือการให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย

 

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดียชื่อ The Consumer Protection Act 1986 (No.68 of 1986) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาของอินเดีย ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2529 ก็ได้ให้นิยามคำว่า “ผู้บริโภค” ไว้ในมาตรา 2 ดังนี้

“ผู้บริโภค” หมายถึง บุคคลผู้ซึ่ง

(1) ซื้อสินค้าโดยจ่ายเงินแล้ว หรือสัญญาว่าจะจ่าย หรือจ่ายเงินบางส่วน หรือสัญญาว่าจะจ่ายเงินบางส่วน หรือการจ่ายภายใต้ระบบการผ่อนจ่าย และรวมถึงผู้ใช้สินค้าโดยมิได้เป็นผู้ซื้อดังกล่าว แต่การใช้สินค้าที่ได้รับความยินยอมจากผู้ซื้อดังกล่าว แต่ไม่รวมถึงบุคคลที่ได้สินค้ามาเพื่อขายต่อ หรือเพื่อประสงค์จะทำธุรกิจค้าขายหรือ

(2) จ้างหรือรับประโยชน์จากบริการใด ๆ ที่ได้จ่ายค่าจ้างไปแล้ว หรือสัญญาว่าจะจ่าย หรือจ่ายบางส่วน หรือสัญญว่าจะจ่ายบางส่วน หรือจ่ายภายใต้ระบบการผ่อนจ่าย และรวมถึงผู้รับประโยชน์จากบริการที่มิใช่ผู้จ่าย แต่ได้รับความยินยอมจากผู้จ่ายข้างต้นด้วย

“บริการ” หมายความว่า บริการใด ๆ ที่จะอำนวยความต้องการต่อผู้จะใช้บริการนั้น ๆ โดยรวมถึงวิธีการทำธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการธนาคาร การเงิน การประกัน การคมนาคมขนส่ง การจัดการต่าง ๆ การสร้างบ้าน การจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าหรือพลังงาน การจัดการที่พักอาศัย หรือการเช่าบ้านหรือทั้งสองอย่าง บริการการบันเทิง การจัดการรื่นเริง หรือการส่งข่าวสาร หรือข้อมูลอื่น ๆ แต่ไม่รวมถึงการให้บริการที่ไม่เรียกเก็บค่าบริการ การบริการภายใต้สัญญาจ้างบุคคล (Contract of personal service) (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรา บรรพ 3 เรียกว่า สัญญาจ้างแรงงาน ฉบับภาษาอังกฤษของโรงพิมพ์อักษรสาสน์ พ.ศ. 2505 แปลว่า Hire of service)

จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดียนั้น ใกล้เคียงหรือคล้ายกับบทบัญญัติในกฎหมายไทย  แต่ที่ต่างกันอยู่ที่วิธีเขียนกฎหมายเท่านั้น ซึ่งสรุปได้ว่า ผู้บริโภคคือบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ผู้ซื้อ (รวมผู้เช่าและเช่าซื้อ) สินค้าหรือผู้ได้รับการเสนอหรือชักชวนให้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจ

2. ผู้รับบริการ หรือผู้ซึ่งได้รับการชักชวนให้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ

 

เมื่อมีคดีระหว่างโรงพยาบาลกลาง (Cosmopolitan Hospital) กับ Vasantha Nair  ผู้พิพากษา Eradi วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยที่ไปใช้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ซึ่งเป็น “บริการ” ในความหมายตามนิยามในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และสั่งให้โรงพยาบาลต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ภรรยาผู้ตาย  เมื่อวันที่ 21 เมษายน 1992  ผลจากคำตัดสินดังกล่าว ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นทั่วไปในวงการแพทย์  มีแพทย์กลุ่มเล็ก ๆ พยายามต่อต้านการนำกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 1986 มาใช้กับการประกอบวิชาชีพแพทย์  และต่อมามีประเด็นโต้แย้งดังกล่าวไปยังศาลสูงของรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศอินเดีย  ต่อมาเมื่อศาลสูงของรัฐมัทราส (Madras High Court) วินิจฉัยให้เป็นประโยชน์กับวิชาชีพแพทย์  ในปี 1994 พฤติการณ์เริ่มคลี่คลายลง คำพิพากษาฎีกาข้างต้นนับว่าเป็นความเห็นที่เป็นที่ยุติ และนับว่าเป็นที่ยอมรับกัน

ต่อมา ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาของอินเดีย ปี 1995 ออกมา  ศาลฎีกาวินิจฉัยดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกา (Supreme Court)  (คดีระหว่าง แพทยสมาคมอินเดีย ผู้อุทธรณ์ กับ ชันธา กับพวก) (V.P. Shanta and Others)

ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection Act 1986) มาตรา 2 (1) (o) คำว่า “บริการ” วิชาชีพแพทย์ (Medical Profession) ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (Medical Practitioners) และโรงพยาบาล (Hospital)  สถานดูแลผู้ป่วย (Nursing Home) ต้องถือว่าเป็นการให้บริการ ตามความหมายของนิยามในมาตรา 2 (1) (o) แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค 1980 ทั้งสิ้น  ดังจะได้อธิบายดังต่อไปนี้

A. ในประเด็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพ (Professional liability) ที่อ้างว่า ผู้ประกอบวิชาชีพแตกต่างจากผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ เพราะผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานที่ไม่อาจคาดหมายถึงผลสำเร็จได้ในทุกกรณี และส่วนมาก ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง  นอกเหนือความคาดหมายของผู้ประกอบวิชาชีพในฐานะมนุษย์จะควบคุมได้  การอ้างเหตุผลดังกล่าว ให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัด ขณะที่ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นยังคงมีอยู่นั้น  ศาลเห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพก็ยังต้องมีความสามารถอย่างน้อยที่จะใช้ความระมัดระวังอย่างเหมาะสม (resonable care) ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

B. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่อาจจะยินดีต่อภูมิคุ้มกันใด ๆ ที่ตนจะถูกฟ้องกรณีผิดสัญญาหรือละเมิด เนื่องจากความบกพร่องในการใช้ความชำนาญจากการบริการอย่างเหมาะสม  ข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยแพทยสภา (Medical Council Act) อยู่แล้ว และต้องถูกควบคุมทางจริยธรรม (disciplinary control) ของแพทยสภาแห่งอินเดีย หรือแพทยสภาของรัฐ (State Medical Council) แล้วแต่กรณีนั้น ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องชดใช้สินไหมทดแทนต่อผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด  สิทธิของบุคคลผู้ได้รับความเสียหายที่จะฟ้องคดีผู้บริโภคจึงไม่เสียไป

C. ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า บางครั้งปัญหาที่สลับซับซ้อนอาจเกิดขึ้น จำต้องนำพยานหลักฐานที่เป็นบันทึกของผู้ชำนาญประกอบการพิจารณาคำฟ้องเกี่ยวกับความบกพร่องในการให้บริการนั้น เป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ให้บริการนั้นหรือไม่  แต่ประเด็นนี้ จะไม่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาในทุกคดีที่มีการฟ้องร้อง  ประเด็นในคำฟ้องในคดีดังกล่าว ก็ควรจะใช้กระบวนวิธีพิจารณาที่รวดเร็ว ตามวิธีดำเนินการโดยองค์การพิจารณาคดีตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Dispute Redressal Agencies)  และไม่มีเหตุผลใดที่คำฟ้องที่เกี่ยวกับความบกพร่องของการให้บริการในกรณีดังกล่าว ไม่ควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยโดยองค์กรตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค  และแม้คำฟ้องที่มีปัญหาสลับซับซ้อน ที่ต้องการความเห็นของพยานผู้ชำนาญ ผู้ฟ้องคดีก็อาจขอร้องให้คดีไปสู่ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งได้ตามความเหมาะสม (ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของอินเดียนั้น องค์กรที่เป็นผู้พิจารณาคดีผู้บริโภค ไม่ใช่ศาล แต่เป็นองค์กรที่มีชื่อว่า National Consumer Redressal Commission แต่งตั้งโดยรัฐบาลกลาง กับ District Forum แต่งตั้งโดยรัฐบาลแห่งรัฐ  รายละเอียดผู้เขียนเคยนำเสนอในวารสารนี้มาแล้ว [คลินิก 12; (5), 2539: 301-305)]

D. บริการที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้คำปรึกษา การวินิจฉัยโรค การรักษาโรค ไม่ว่าจะโดยทางอายุรกรรมหรือศัลยกรรมต่อผู้ป่วย  ย่อมอยู่ในความหมายของ “การบริการ” ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งสิ้น (เว้นแต่ แพทย์ที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการต่อผู้ป่วยทุกคน หรือให้บริการภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน – contract of personal service)

E. สัญญาจ้างแรงงาน (Contract of personal service) ต่างจากสัญญาจ้างทำของ (Contract for personal service) เพราะผู้ป่วยกับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานนายจ้างกับลูกจ้าง  บริการที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้กับผู้ป่วยได้คือ บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่บริการนั้นเป็นบริการที่ให้ภายใต้สัญญาจ้างทำของ (Contract for personal service)  จึงไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นของคำว่า “บริการ” ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (ทำนองเดียวกัน ศาลฎีกาของไทยได้วินิจฉัยไว้ในฎีกาที่ 287/2507 ว่า กิจการสถานพยาบาลและผดุงครรภ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อรับพยาบาลผู้เจ็บป่วย และทำคลอดบุตรให้แก่หญิงมีครรภ์ ลักษณะเป็นการจ้างทำของ)

F. คำว่า “สัญญาจ้างแรงงาน” (Contract of personal service) อาจรวมถึงสัญญาจ้างเจ้าหน้าที่แพทย์ (Medical officer) โดยมุ่งหมายที่จะให้แพทย์ผู้นั้นมาให้บริการแก่นายจ้าง  บริการที่เจ้าหน้าที่แพทย์ให้บริการแก่นายจ้างภายใต้สัญญาจ้างดังกล่าว ไม่อยู่ในขอบเขตของคำว่า “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

G. บริการที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล/สถานพยาบาล (Nursing home) ซึ่งบริการเหล่านั้นไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ต่อผู้ป่วยทุกคน ไม่ถือว่าเป็น “บริการ” แม้ว่าจะมีค่าลงทะเบียนกับโรงพยาบาล/สถานพยาบาลบ้าง ก็ยังไม่ถือว่าเป็น “บริการ”

H. บริการโดยโรงพยาบาล/สถานพยาบาลที่มิใช่เป็นของรัฐ (Non-Government)  ถ้าไม่ได้คิดค่าบริการจากผู้ใดเลย  ผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ต้องต้องจ่ายค่าบริการเลย  บริการเหล่านั้นถือว่า มิใช่ “บริการ” ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

I. บริการโดยโรงพยาบาล/สถานพยาบาลที่มิใช่เป็นของรัฐ โดยคิดค่าบริการ  การบริการนั้นถือเป็น “บริการ” ตามที่บัญญัติในกฎหมาย

บริการโดยโรงพยาบาล/สถานพยาบาลที่มิใช่เป็นของรัฐ โดยคิดค่าบริการจากบุคคลที่อยู่ในฐานะจะจ่ายค่าบริการได้ และผู้ที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายค่าบริการได้ ก็ไม่คิดค่าบริการ ก็ถือว่าอยู่ในข่ายของความหมายของ “บริการ” ตามกฎหมายทั้งสองกรณี

J. บริการของโรงพยาบาล/ศูนย์รับบริการ/ร้านยาของรัฐ ที่ไม่ได้คิดค่าบริการจากผู้ป่วย ไม่ว่ารวยหรือจน ไม่ถือว่าเป็น “บริการ” ตามกฎหมาย

บริการของโรงพยาบาล/ศูนย์รับบริการ/ร้านยาของรัฐ ซึ่งคิดค่าบริการจากผู้มาใช้บริการ  ขณะเดียวกันก็ไม่คิดค่าบริการต่อผู้มาใช้บริการบางกลุ่ม ก็ยังถือว่าเข้าข่าย “บริการ” ตามกฎหมาย โดยมิได้คำนึงถึงการที่มีผู้ใช้บริการฟรี

K. บริการของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ไม่ถือว่าให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ  เมื่อผู้ใช้บริการเป็นผู้มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพ  และบริษัทประกันเป็นผู้จ่ายค่าปรึกษา ค่าวินิจฉัย และค่ารักษา  บริการเหล่านั้นย่อมอยู่ในขอบเขตของคำว่า “บริการ” ตามกฎหมาย

L. ทำนองเดียวกัน ถ้าเงื่อนไขของการให้บริการ โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนลูกจ้างและครอบครัวของลูกจ้าง  ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ที่ให้บริการแก่ลูกจ้างและครอบครัวของเขา ก็เข้าข่ายว่าเป็น “บริการ” ที่กฎหมายบัญญัติ

ผู้พิพากษา ได้แก่ Kuldip Singh, S.C. Aqarwal และ B.L. Hansaria (13 Nov. 1995)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ป่วย เป็นผู้บริโภคหรือไม่  เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ ผมจึงได้แปลคำพิพากษาฎีกาของอินเดียมาให้พิจารณากัน  และอยากจะให้ผู้อ่านพิจารณากันว่า  ทุกวันนี้ เรามีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการฟรีแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวยหรือไม่  ทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในสวัสดิการของรัฐก็ดี ผู้ป่วยประกันสังคมก็ดี ผู้ป่วยประกันสุขภาพก็ดี  แม้ผู้ป่วยจะไม่ต้องจ่ายค่าบริการเอง แต่ก็มีผู้รับประกันจ่ายแทนให้ทั้งสิ้น  ดังนั้น ถ้าพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลฎีกาอินเดียแล้ว  ผู้ป่วยในประเทศไทยย่อมเป็นผู้บริโภคทั้งสิ้น  ผมไม่แน่ใจว่า โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือคลินิกในประเทศอินเดีย ยังมีประเภทที่ให้บริการฟรีโดยสมบูรณ์ทั้งหมดแก่ประชากรทุกคนอยู่อีกหรือไม่  ผู้ที่เคยไปดูระบบบริการรักษาพยาบาลของอินเดีย (Health Care Service System) น่าจะได้อธิบายในเชิงวิชาการออกมาสู่ผู้อ่านบ้าง

ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายอินเดียและคำพิพากษาฎีกาได้จากหนังสือ The Law of Medical Negligence ซึ่งแต่งโดย Dr. H.L. Chulani M.S., LL.B.  ผมได้รับอภินันทนาการจากโรงพยาบาลทรวงอกในเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย  ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

ผู้เข้าชม {hits}2752{/hits} ครั้ง

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน