บริการสุขภาพ

ไม่ควรเก็บ 30 บาทซ้ำเติมคนจน VS เก็บ 30 บาทเพื่อให้ประชาชนรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ

กลุ่มคนรักหลักประกันจับมือนักวิชาการ ค้านเก็บ 30 บาท ซ้ำเติมคนจนที่ต้องแบกค่าใช้จ่ายอื่นในขณะที่รัฐบาลให้เหตุผลว่า กลับมาเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่เป็นผู้มาขอรับบริการ

หลังการแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ.55 ถึงเหตุผลของไม่ควรกลับไปใช้นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอเหตุผลทางวิชาการและเชิงประจักษ์  แต่ท้ายที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานการประชุมวิชาการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในศตวรรษที่ 2 จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 22 มี.ค.55 ว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลยามเจ็บป่วย โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการล้มละลาย ซึ่งตลอดมาระบบประกันสุขภพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ คือกว่า 47 ล้านคน ช่วยลดความยากจนจากการจ่ายค่ารักษาประกันสุขภาพได้กว่า 76,000 ครัวเรือน ซึ่งก้าวต่อไปของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะยกเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และบริการที่ดี ครอบคลุม โดยจะกลับมาเก็บเงินสมทบ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่เป็นผู้มาขอรับบริการเท่านั้น

 

ทำไมถึงไม่ควรเก็บ 30 บาท

ดร.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การที่รัฐบาลปัจจุบันโดยการนำของพรรคเพื่อไทยได้ประกาศแนวคิดที่จะนำนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” กลับมาใช้ใหม่ โดยที่ผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปัจจุบันบางส่วนต้องร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้ง เมื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพนั้น จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทย โดยคนจนที่สุดจะได้รับความเดือนร้อนมากที่สุด

 

“เหตุผลที่มักถูกอ้างว่าต้องเก็บ 30 บาท เพราะโรงพยาบาลขาดทุนต้องเพิ่มรายได้ แต่จากงานศึกษาพบว่า ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเกิดจากการบริหารจัดการในส่วนต้นทุนค่าตอบแทนนั้นเป็นสาเหตุหลัก โรงพยาบาลที่มีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2553 มีโรงพยาบาลจำนวน 495 แห่งจากทั้งหมด 834 แห่ง เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ พบว่า โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยมี ค่าตอบแทน ค่าจ้าง และค่ายาเป็นค่าใช้จ่ายหลัก อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าตอบแทนนั้นมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30-40 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ ส่วนต้นทุนค่ายาและค่าจ้างมีอัตราการเพิ่มที่ลดลงในทุกๆปี ทั้งนี้ ค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่คำถามที่สำคัญคือ คนเหล่านี้ไม่ได้รักษาคนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่รักษาคนทุกระบบ เหตุใดภาระค่าใช้จ่ายจึงต้องมาซ้ำเติมเฉพาะกับคนในระบบหลักประกันสุขภาพเท่านั้น ทั้งที่ร้อยละ 40 ของคนในระบบหลักประกันคือคนที่ยากจนที่สุดของประเทศ”

 

จากข้อมูลที่กล่าวว่า การให้ร่วมจ่าย 30 บาทจะป้องกันการใช้บริการด้านสุขภาพเกินความจำเป็น (Moral hazard) นั้น ดร.อุษาวดี นักวิจัยอิสระด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน ความชุกของโรคต่างๆเพิ่มขึ้น ดังนั้น การไปรับรักษาบริการมากขึ้นทุกระบบ ไม่ใช่การใช้บริการเกินจำเป็น และหลังปี 2550 ที่ยกเลิกการร่วมจ่าย 30 บาท ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ขยายชุดสิทธิประโยชน์ในเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้แก่ บริการยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งในปี 2553 มีผู้ป่วยได้รับยาสูตรพื้นฐาน 134,382 ราย สูตรดื้อยา 8,682 ราย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการ 16,509 ราย ผู้ป่วยวัณโรคเข้ารับบริการ 44,150 ราย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง อีกจำนวนกว่า 2 ล้านคนจึงย่อมส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นที่เพิ่มขึ้นและมีการใช้บริการสุขภาพทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมากขึ้นเช่นกัน “นอกจากนี้ การเข้าไปรับรักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง คนที่มีรายได้น้อยยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก จากการสำรวจ พบว่าในการไปรับบริการสุขภาพในแต่ละครั้งนั้น ผู้ป่วยนอก ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย เป็นเงิน 174 บาท (ไม่รวมค่าขาดรายได้) กรณีผู้ป่วยในเป็นเงิน 263 บาท (ไม่รวมค่าขาดรายได้) ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างมีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 210 บาทเท่านั้น กลุ่มตัวอย่างสะท้อนว่ากังวลใจต่อค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาลมากที่สุดจนอาจเป็นเหตุผลของการต้องไตร่ตรองหลายครั้งก่อนไปรับบริการ หรือตัดสินใจไม่ไปรับบริการเลย”

 

ก่อนปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศนั้น คนยากจนมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อรายได้สูงกว่าคนที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดอยู่แล้ว และเมื่อมีรบบประกันสุขภาพแล้วก้ตาม ปัญหานี้ก็ยังดำรงอยู่ เพียงแต่ช่องว่างของปัญหาน้อยลง ในปี 2550 กลุ่มคนที่จนที่สุดมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นร้อยละ 2.12 ของรายได้รวม ในขณะที่กลุ่มคนที่รวยที่สุดมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพียงร้อยละ 1.55 ของรายได้รวม และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในมูลค่าดังกล่าวนั้นเป็นเงินสดที่กลุ่มที่ยากจนที่สุดต้องควักออกจากกระเป๋าของตัวเองถึงร้อยละ 96 ในขณะที่กลุ่มคนที่รวยที่สุดต้องควักเงินออกจากกระเป๋าของตนสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพียงร้อยละ 58

 

ดร.อุษาวดี  กล่าวย้ำว่า คนกลุ่มที่จนที่สุดมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 79 บาทต่อคนต่อเดือน โดยที่ต้องจ่ายออกไปเป็นเงินสด 76 บาทต่อคนต่อเดือน ในขณะที่คนกลุ่มที่รวยที่สุดมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 880 บาทต่อคนต่อเดือน โดยที่ต้องจ่ายออกไปเป็นเงินสดเพียงแค่ 511 บาทต่อคนต่อเดือน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนรวยได้รับการอุดหนุนจากรัฐมากกว่าโดยโครงสร้างอยู่แล้ว ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องควักกระเป๋าจ่ายเองแทบทั้งหมด ดังนั้น การให้กลับไปร่วมจ่าย 30 บาทจะยิ่งไปเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพของคนกลุ่มที่จนที่สุด และยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพไทย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน