นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุ เปิดเผยสาเหตุที่วอล์คเอาท์ออกจากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวานนี้ว่า เป็นเพราะรับไม่ได้กับการประชุมที่ผิดหลักการ ขัดระเบียบ และยังมีความพยายามล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างชัดเจน
“เริ่มจากการรับรองรายงานการประชุม นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานในที่ประชุมขอแก้ไขรายงานเรื่องตั้งกลุ่มบุคคลไปดูเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งนายวิทยาเป็นคนเสนอเองว่าให้ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ์ สินธณรงค์ และผู้แทนแรงงาน และยังพูดชัดเจนว่า ทั้ง 3 คนนี้จะไม่ให้เข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการ ซึ่งผมยังได้ชมไปว่า นี่คือรัฐมนตรีมีหลักการที่ก้าวหน้าและถูกต้อง แต่ครั้งนี้รัฐมนตรีกลับมาขอแก้ไขว่า ที่ไม่ให้เป็นไม่ให้ครอบคลุมตำแหน่ง เอาเฉพาะตัวบุคคล คือถ้าเป็นโดยตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ เช่นนี้เป็นได้ ไม่เป็นไปตามสิ่งที่พูดในที่ประชุมครั้งก่อน เป็นการผิดหลักการเลยทีเดียว ประธาน(นายวิทยา)ก็ใช้คำว่าขอ ขอ แต่ผมคิดว่าผิดหลักการ ยอมไม่ได้ ซึ่งในการช่วงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดแรก ก็เสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานอนุกรรมการ”
ตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช. ยังเปิดเผยต่อว่า การประชุมครั้งนี้ยังทำผิดระเบียบการประชุมอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการส่งเอกสารล่วงหน้าโดยเฉพาะข้อเสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ส่งแต่วาระการประชุมเท่านั้น
“ตามระเบียบการประชุม เอกสารต้องส่งก่อนอย่างน้อย 3 วัน นี่ส่งให้บางคนไม่ครบ ส่งให้ล่วงหน้าไม่ถึง 3 วัน เอกสารการจัดตั้งอนุกรรมการ ไม่มีหลักการเหตุผลของการตั้งคณะอนุฯชุดต่างๆ ไม่มีรายละเอียดของผู้ที่จะเป็นอนุกรรมการ ไม่มีประวัติ ไม่มีทั้งสิ้น ไม่เป็นไปตามมติประชุมครั้งที่แล้วที่ระบุว่า ต้องอธิบายได้ว่า ใช้หลักการอะไรในการตั้งคณะอนุฯ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเริ่มพิจารณา ที่ประชุมขอให้แสดงหลักการเหตุผล ผู้เสนอคือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนพ.ประดิษฐ์ ก็ไม่สามารถแสดงได้”
นอกจากนี้อำนาจหน้าที่ของบางคณะก็เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และแสดงอย่างชัดแจ้งว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขต้องการแทรกแซงการทำงานของ สปสช.
“เช่น คณะอนุฯชุดหนึ่ง ระบุว่า มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะหักเงินสถานบริการหรือไม่ ซึ่งในอดีตมีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง เบิกเงิบเกิน 80 ล้านบาท ทางสำนักงานฯพบความผิดปกตินี้และเรียกเงินคืนในที่สุด จริงอยู่ ก่อนหน้านี้มีคณะที่ปรึกษาของเลขาธิการ สปสช.ทำหน้าที่กลั่นกรองจุดนี้ แต่อยู่ในส่วนสำนักงาน แต่ข้อเสนอครั้งล่าสุดให้มาอยู่ภายใต้บอร์ดที่ปลัดกระทรวง สธ.เป็นประธาน ฉะนั้นจะมีส่วนได้เสียชัดเจน หากเป็นโรงพยาบาลของ สธ. ทำผิด จะหักหรือไม่หักเงินคืน หรือจะปล่อยผี เป็นการเลือกที่รักมักที่ชัง อย่างไรก็ตามในที่สุดก็ตัวแทนประชาสังคมสามารถตัดประเด็นนี้ได้”
นพ.วิชัย ระบุว่า ในการประชุม นายวิทยาในฐานะประธานบอร์ดออกรับแทน นพ.ไพจิตร หรือ นพ.ประดิษฐ์ ตลอดโดยที่ทั้งสองไม่ยอมชี้แจงเลย
“การตั้ง สปสช.ขึ้นมาดูระบบหลักประกันสุขภาพมีหลักการเพื่อความเป็นอิสระจากผู้ให้บริการคือกระทรวง สปสช.มีหน้าที่บริหารเงิน สธ.มีอำนาจบริหารโรงพยาบาลให้ดี หากทำเช่นนี้กระทรวงสาธารณสุขก็จะมีอำนาจเหนือ สปสช. ผิดหลักการ พิจารณาไป 2 คณะอนุฯ ปลัด สธ.ก็เป็นประธานทั้ง 2 คณะ ผมจึงไม่เห็นประโยชน์ในการร่วมประชุมกับที่ประชุมที่ผิดหลักการเช่นนี้ได้”