ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2553 นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 2240/2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและรวบรวมความเห็นต่อเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... จำนวน 25 คน โดยมีปลัด สธ.เป็นประธาน และประกอบด้วย รองปลัด สธ.อธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง และผู้ตรวจราชการกระทรวงทั้ง 18 เขต เป็นกรรมการ ทำหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นของบุคลากรสังกัด สธ.ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ อีกทั้งสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะได้ดำเนินการสอบถามความเห็น บุคลากรในสังกัดเกี่ยวกับข้อสรุปประเด็นความเห็น/ข้อเสนอแนะ 12 ประเด็นต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ในระบบสาธารณสุขได้ข้อ สรุป ผ่านทางเว็บไซต์ของ สธ.ด้วย
ด้าน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวว่า การดำเนินการทั้ง 2 กรณีไม่ถือเป็นการทำประชาพิจารณ์ตามที่ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม รัฐบาล หรือวิปรัฐบาลเคยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลับมาดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ อีกทั้ง 12 ประเด็นไม่ใช่ข้อสรุปที่แท้จริงของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
“หาก สธ.นำข้อสรุปความเห็นของบุคลากรในสังกัดเกี่ยวกับ 12 ประเด็นมาใช้อ้างเป็นการทำประชาพิจารณ์ สผพท.จะดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ 1.จะต้องแสดงพลังคัดค้าน 2.ฟ้องศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่รัฐบาลผลักดันกฎหมายที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นจำเลยโดยปราศจากความ เห็นรอบด้าน และ 3.หากร่าง พ.ร.บ.ผ่านความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 ก็จะส่งตัวแทนเข้าร่วมในชั้นคณะกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติในวาระ 2 ต่อไป” พญ.เชิดชู กล่าว
ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 17 มกราคม 2554 |