กรณีที่นโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศ ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติหรือเมดิคัลฮับนั้น นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึง ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ไปสนับสนุนบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลของเอกชน ที่มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจเป็นหลัก และต้องไม่นำโรงพยาบาลชั้นนำของรัฐเข้าร่วมในเมดิคัลฮับด้วย เพราะทำให้เกิดแพทย์ไหลสู่โรงพยาบาลเอกชน
ส่วนแนวทางแก้ปัญหาสมองไหล เช่น เพิ่มอัตราการปรับเงินสำหรับแพทย์ที่ลาออกก่อนครบกำหนดการใช้ทุน จากเดิมที่กำหนดเอาไว้คนละ 400,000 บาท เพราะเป็นอัตราเก่าที่กำหนดเอาไว้นานมากแล้ว ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องสนับสนุนตกคนละ 3 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเสนอให้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากการบริการทางการแพทย์ต่อชาวต่างชาติเพิ่ม จากปกติอีก 20%
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า มีรายงานจากทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ยืนยันว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีแพทย์ในระดับอาจารย์ที่ลาออกไปทำงานกับภาคเอกชนแล้วประมาณ 70 คน และมีรายงานว่า มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่รับผู้ป่วยต่างชาติ มีแพทย์ที่ทำงานเต็มเวลาจำนวน 40 คน ที่ย้ายมาจากโรงเรียนแพทย์ในรอบ 5 ปี
"ถึงแม้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะผลิตแพทย์ออกมาได้อีกเป็นหมื่นคน แต่ตัวเลขนี้ก็จะไม่มีความหมายเลย เพราะแพทย์ที่จบออกมาอาจจะไม่มีคุณภาพ เนื่องจากแพทย์ในระดับอาจารย์ที่จะสอนแพทย์ใหม่ถูกดึงตัวออกไปหมดแล้ว เพราะภาคเอกชนให้เงินเดือนสูงกว่ารัฐ" กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า แพทย์ในชนบทขาดแคลนมานานแล้ว หากรัฐสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับ ก็จะยิ่งทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐต่างจังหวัดถูกดึงตัวไปอยู่กับโรงพยาบาล เอกชน ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านในชนบท หากไม่มีการป้องกันสมองไหล แพทย์ที่จบออกมาใหม่ๆ ก็จะไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลเมดิคัลฮับกันหมดรัฐควรจะเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่แพทย์ในชนบท เพื่อเป็นแรงจูงใจ
"ปัจจุบันค่าตอบแทนระหว่างบุคลากรภาครัฐกับ เอกชนต่างกันประมาณ 8-10 เท่า ก็ควรจะร่นให้เหลือ 1-2 เท่า เพราะขณะนี้ แพทย์จบใหม่ที่ไปอยู่กับเอกชนจะได้เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท หากเป็นระดับอาจารย์แพทย์ก็ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ขณะที่ภาครัฐได้ไม่เกิน 30,000-40,000 บาท และควรที่จะปรับอัตราตำแหน่งให้มีความก้าวหน้าด้วย" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 04/11/53