รายงานพิเศษโดย....วรรณภา บูชา
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันงบประมาณมีเพียงพอในการดูแลประชาชน 47.2 ล้านคน ทั้งยังสามารถขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมโรคต่างๆ มากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ได้รับน้อยนิดจนกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล
ในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลอนุมัติงบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วงเงิน 89,322.26 ล้านบาท ตามที่ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ โดยยังไม่รวมงบบริหารจัดการ ซึ่งมติบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอของบประมาณจำนวน 1,822.16 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ งบประมาณ 89,322.26 ล้านบาท แบ่งเป็นงบอัตราเหมาจ่ายรายหัว 84,791.366 ล้านบาทต่อประชากร 47.2 ล้านคน หรือเท่ากับ 2,406.32 บาทต่อคน งบกองทุนผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2,770.85 ล้านบาทต่อประชากร 138,000 คน งบกองทุนบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 1,455.44 ล้านบาทต่อผู้ป่วย 9,454 คน และงบกองทุนการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง 304.59 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณสำหรับส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข กว่า 1,700 ล้านบาท หรือเข้าใจง่ายๆ ว่า เป็นงบพัฒนาสถานีอนามัย (สอ.) ที่เป็นงบลงทุนใหม่ๆ นั้น มีการระงับไป เนื่องจากสำนักงานประมาณพิจารณาแล้ว เห็นว่า งบประมาณส่วนนี้เป็นภารกิจและความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงให้ สธ.เป็นผู้เสนอขอในภายหลัง
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ สปสช.เสนอไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเหนือเกินความคาดหมายที่แม้จะไม่ได้ตามที่เสนอไป แต่ก็ถือว่าได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัว และงบกองทุนโรคเรื้อรัง กล่าวคือ ในขณะที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในภาพรวมทั้งประเทศลดลงถึงร้อยละ 10 แต่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับด้านสุขภาพมากถึง 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่ต่างจากงบประมาณปี 2552 มากนัก และอย่างน้อยก็ถือเป็นหน่วยงานต้นๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะได้รับงบเพิ่มขึ้นถึง 9,637 ล้านบาท โดยเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 2,406.32 บาทต่อประชากร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2552 ที่ได้รับจำนวน 2,202 บาทต่อประชากร จำนวน 204 บาท
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ มีการหยิบยกตัวเลขงบประมาณที่ไม่ได้รับตามที่ขอมาเป็นประเด็นในการโจมตีรัฐบาล จนทำให้ “นพ.วินัย สวัสดิวร” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องออกมายืนยันนั่งยันนอนยัน ว่า ไม่กระทบกับการดูแลสุขภาพของประชาชน เพียงแต่ขอให้อย่าเฉือนงบบริหารจัดการจำนวน 1,822.16 ล้านบาท ออกเยอะนัก ซึ่งรัฐมนตรีวิทยาก็ประกาศอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ว่า เป็นไปได้ยากที่จะได้รับงบประมาณตามที่เสนอขอ เพราะเป็นตัวเลขเพิ่มจากเดิมที่ได้รับถึงเท่าตัว
และก็เป็นไปตามที่รัฐมนตรีวิทยาประกาศ เพราะในการประชุมร่วมกันกับสำนักงบประมาณได้มีการต่อรองยอมหั่นงบส่วนนี้เหลือ 1,400 ล้านบาท
หลายคนคงสงสัยว่า งบบริหารจัดการ 1,822.16 ล้านบาท ที่ผู้บริหาร สปสช.บอกว่า มีความสำคัญหนักหนา สอดคล้องประสานเสียงกับนักวิชาการอย่าง “นายอัมมาร สยามวาลา” แห่งทีดีอาร์ไอนั้น จริงๆ แล้วมีความจำเป็นอย่างไร
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สปสช. แจกแจงว่า งบบริหารจัดการของสปสช. 1,822.16 ล้านบาท ก้อนนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ งบประจำ ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำขั้นต่ำที่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากร สำหรับส่งเสริม พัฒนา และตรวจสอบคุณภาพการจัดบริการ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติที่คาดว่าประชาชนจะมารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้นและระบบสารสนเทศเพื่อการติดตาม โดยเฉพาะระบบบริการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เป็นจำนวน 626.83 ล้านบาท
และส่วนที่ 2 งบดำเนินการและพัฒนาตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน 1,195.33 ล้านบาท คือ 1.การรับรู้ เข้าใจ สิทธิหน้าที่ ทราบข้อเท็จจริง และได้รับการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ จำนวน 213 ล้านบาท เช่น โครงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาการรับรู้ที่เป็นวาระสำคัญของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) โครงการสร้างพันธมิตรกับเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น เป็นต้น
2.มีระบบบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีทางเลือก จำนวน 287 ล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิระดับสถานีอนามัย (PCU) โครงการพัฒนาระบบส่งต่อ ส่งกลับ รับคืน 3.การมีระบบบริหารงบกองทุนที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตามหลักธรรมาภิบาล จำนวน 262 ล้านบาท เช่น การจัดการการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์และการซื้อยา เวชภัณฑ์ในรายการที่มีความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ การประเมินผลกระทบการจัดสรรและผลกระทบจากระบบกลไกการจ่ายเงินกองทุนย่อยทุกกองทุน เป็นต้น
4.ทุกภาคีมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ จำนวน 117.95 ล้านบาท เช่น การมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรวิชาชีพในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น 5.มีระบบงานที่มีมาตรฐาน มีการกระจายอำนาจ และมีระบบการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ 175.72 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และธรรมาภิบาลให้สอดประสานกับการปฏิบัติงานในทุกระดับ เป็นต้น
6.บุคลากรทำงานเป็นทีม และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อย่างต่อเนื่อง โดยมีระบบสารสนเทศเป็นพื้นฐาน จำนวน 137.95 ล้านบาท เช่น โครงการคนไทยหนึ่งใบก็พอ “thai citizen smart health card” โครงการปรับปรุงและบูรณาการแผนแม่บทสารสนเทศการประกันสุขภาพ เป็นต้น
สำหรับงบประมาณทั้ง 6 ยุทธศาสตร์นั้น งบที่ขอไป 1822.16 ล้านบาท เพิ่มจาก 936.75 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่เพิ่มจาก 2 ยุทธศาสตร์แรก เกือบ 40% ของงบทั้งหมด ซึ่งถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง เนื่องจากมีประชาชนเพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้นที่รู้และเข้าใจสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะเดียวกันการเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลกรในพื้นที่ห่างไกลได้ แต่ต้องมีการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพด้วย
ที่สำคัญ ที่ผ่านมา สปสช.ได้รับงบบริหารจัดการประมาณ 1%ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรามาตรฐานอยู่ที่ 3% เช่น ประเทศไต้หวัน ทำให้การบริหารจัดการกองทุนสุขภาพของประชาชนมีประสิทธิภาพสูง
ดังนั้น หากเปรียบเม็ดเงินเหมือนปุ๋ย ที่สปสช.ต้องรดน้ำพรวนดินดูแล “ต้นไม้” ที่ชื่อว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างไร “ผล” หรือสุขภาพของประชาชนก็น่าจะออกมาเช่นนั้น...โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 6 พฤษภาคม 2552