ครม.อนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวปี 53 จำนวน 2,400 บาทต่อประชากร “วิทยา” ระบุ ไม่ได้เท่าที่ขอไว้ แต่บริการจัดการได้ไม่กระทบบริการสุขภาพ ขณะที่มติบอร์ด สปสช.ดึง รพ.กรุงเทพ ร่วมดูแลผู้ถือบัตรทอง 3 โรคเร่งด่วน เน้นโรคค่าใช้จ่ายสูง ทั้งโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองอุดตัน ชี้ ผู้ป่วยได้รับการรักษารวดเร็วทันท่วงที ช่วยลดความพิการ
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2553 จำนวน 2,400 บาทต่อประชากร จากปี 2552 ซึ่งได้รับงบเหมาจ่ายรายหัว 2,202 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้นจากเดิม 198 บาท จากที่เสนอขอไว้ประมาณ 2,700 บาทต่อประชากร โดยอ้างอิงข้อมูลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเท่ากับจำนวนผู้ป่วยในปี 2552 ทั้งนี้ ครม.มีความเห็นตามสำนักงบประมาณในการตัดงบประมาณในส่วนของกองทุนเอดส์ และงบส่วนอื่นๆ ออกเท่านั้น ไม่ได้ตัดเงินที่ใช้ในกองทุนหลัก ขณะเดียวกันกองทุนหลักยังได้งบประมาณเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
“ได้หารือกับนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.แล้วเห็นว่า งบประมาณที่ได้รับนั้นพอรับได้ เพราะจะไม่กระทบกับการรักษาพยาบาล สามารถบริการจัดการงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ โดยอาจหาวิธีลดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่ง สปสช.ถือเป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขณะที่หน่วยงานอื่นไม่ได้รับเพิ่มขึ้น” นายวิทยากล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และการให้บริการล้างไตผ่านช่องท้องให้ประชาชนเข้าถึงบริการคลอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ จากการที่สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่โครงสร้างสังคมที่มีประชากรสูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้น การดูแลด้านสาธารณสุขจึงต้องเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
นายวิทยา กล่าวว่า นอกจากนี้ มติที่ประชุมมีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยมี รพ.สังกัดรัฐบาลทุกแห่ง และ รพ.เอกชน เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ จะมีความร่วมมือระหว่างเครือข่ายของ รพ.กรุงเทพ ทั้ง 14 แห่ง ซึ่งเป็น รพ.เอกชน เข้าร่วมดูแลประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจะให้การรักษา 3 โรค คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ผู้ป่วยที่มีภาวะหลออดเลือดสมองในกรณีฉุกเฉิน และการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ซึ่งเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ความร่วมมือนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการบริการเพิ่มมากขึ้นและทันท่วงที ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการ รวมถึงได้รับบริการที่มีมาตรฐานภายใต้การชดเชยที่เหมาะสม โดยคาดว่าจะเพิ่มจากอัตราเหมาจ่ายรายหัว 10%
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า จากความร่วมมือดังกล่าวนี้ เครือข่ายของรพ.กรุงเทพ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ 14 แห่งจะให้การดูแลผู้ป่วยใน 3 โรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมีภาวะของโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยมีรายละเอียดคือ ในการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดมีเครือข่าย รพ.กรุงเทพ 4 แห่ง เข้าร่วมให้บริการ คือ ศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์ รพ.กรุงเทพราชสีมา และ รพ.กรุงเทพภูเก็ต มีเป้าหมาย 100 ราย ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน มีเครือข่าย รพ.กรุงเทพ 4 แห่งเข้าร่วมให้บริการ คือ ศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ รพ.กรุงเทพพัทยา รพ.กรุงเทพราชสีมา และ รพ.กรุงเทพภูเก็ต ไม่จำกัดจำนวนผู้ป่วยในระยะเวลา 1 ปี
นายนิมิตร เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การตัดงบประมาณด้านเอดส์ออกจะไม่กระทบกับผู้ป่วย เพราะประหยัดเงินจากการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) แต่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่อนุกรรมการสิทธิประโยชน์ด้านเอดส์พิจารณาว่าการตัดงบประมาณมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ นอกจากนี้ จะเสนอให้องค์การเภสัชกรรมลดค่ายาจี พี โอเวีย ซึ่งปัจจุบันเมื่อเทียบกับยาจากอินเดียวสูงกว่าเท่าตัว รวมทั้งพัฒนายาสามัญให้มีคุณภาพมากขึ้น และควบคุมการดื้อยาของผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างมาก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 21 เมษายน 2552 19:02 น. |