นักวิชาการ กลุ่มธุรกิจอาหาร เกษตรอินทรีย์ และภาคประชาสังคมจับตาการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เอื้อบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ หลังคณะทำงานจีเอ็มโอเห็นชอบให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2550 ควบคุมการทดลองอย่างเข้มงวด
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิถี ได้แถลงในการประชุมเพื่อวิเคราะห์ ‘ร่างพรบ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....’ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ว่า หลังจาก ‘คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย’ ได้ประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 โดยที่ประชุมได้มีมติร่วมกันว่า การทดลองเรื่องจีเอ็มโอนั้นให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ องค์กรสาธารณะประโยชน์ และนักวิชาการ และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณีนั้น ทำให้การผลักดันของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอต้องสะดุดลงชั่วคราว กลุ่มดังกล่าวจึงต้องเร่งให้มีการผลักดันพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นกฎหมายให้มีการบังคับใช้โดยเร็วแทน
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ การผลักดันกฎหมายนี้ให้ผ่านสนช.ไปโดยเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะไม่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจอาหารท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนทางพันธุกรรรม” นายวิฑูรย์ กล่าว
ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้นในพิธีสารครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่าต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ควรปรับปรุงร่างกฎหมายในมาตรา 17 โดยควรบัญญัติในลักษณะ ห้ามมิให้มีการผลิตหรือนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่จะได้ประกาศยกเว้นไว้ แทนที่จะเปิดกว้างและควบคุมเฉพาะพืชจีเอ็มโอที่ประกาศเป็นคราวๆ และการกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายเฉพาะกรณีที่มีการปลดปล่อยจีเอ็มโอ นอกบัญชีการปลดปล่อยสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเป็นรูปแบบกฎหมายที่อาจขัดกับวัตถุประสงค์ของพิธีสารและไม่ได้คุ้มครองผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอซึ่งได้รับการอนุญาตให้มีการปลดปล่อยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แถลงว่า จากการรับฟังความคิดเห็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ คณะกรรมการอิสระคุ้มครองผู้บริโภคพบว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปโดยเร็วจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ แต่จะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน เกษตรกรและกลุ่มธุรกิจด้านเกษตรอินทรีย์ และธุรกิจอาหารอีกหลายกลุ่ม รวมทั้งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค “คณะกรรมการฯจะทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และได้ปรับปรุงเนื้อหาให้คุ้มครองสิทธิของเกษตรกร ผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจต่างๆที่จะได้รับผลกระทบ”
“ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค และสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขาดด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้บอกถึงคุณสมบัติคณะกรรมการฯที่อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ควรแยกผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นปัจเจกกับตัวแทนหน่วยงานภาคประชาสังคมที่เขาทำงานด้านนี้มันควรจะแยกและให้โค้วต้าบุคคลเหล่านี้ด้วย ควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงมาตรการควบคุม และมีกระบวนการศึกษาวิจัยติดตาม และเพิ่มมาตรการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหา” รศ.ดร.จิราพร กล่าว
ด้าน นายกสมาคมผู้ค้าผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ไทย นายพีรโชติ จรัญวงศ์ กล่าวว่า สารเคมีและสารชีวภาพเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพราะแยกไม่ออกและสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ สารเคมีนั้นมีการเสื่อมสภาพ ขณะที่สารชีวภาพไม่เสื่อมสภาพ มันสามารถแพร่พันธุ์และมีชีวิตรอดด้วยตัวของมันเอง ฉะนั้นหากมีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอมาที่แปลงนี่ถือเป็นเรื่องต้องห้ามมาก มาตรฐานทั้งหมดในทั่วโลกตอนนี้ไม่ยอมรับการปนเปื้อนของจีเอ็มโอเลยแม้แต่มาตรฐานเดียว ยกเว้นมาตรฐานอเมริกาซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ให้ปนเปื้อนได้เล็กน้อย
นายปรีชา จงประสิทธิ์พร บริษัท กาญจน์คอร์น จำกัด กล่าวว่า ญี่ปุ่นปฏิเสธมะละกอฮาวายจากไทยเพราะปนเปื้อนจีเอ็มโอ แต่นำเข้ามะละกอฮาวายจากอเมริกาซื้อมีการปนเปื้อนเหมือนกัน แต่อเมริกามีการพิสูจน์ทางสุขภาพว่าของอเมริกาไม่เป็นอันตราย ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นการกีดกันทางการค้า หรือแม้แต่ข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบทำธัญพืช หากอนาคตอเมริกาไปทำกับข้าว ประเทศไทยจะปลูกข้าวก็ต้องไปขออนุญาตอเมริกา ซึ่งหากไปซื้อข้าวจีเอ็มโอราคาจะเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว