จากข่าวการเสียชีวิตของหญิงสาววัย 21 ปี ที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ผลตรวจสอบเบื้องต้นพบประวัติการกินยากันชักและกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจาก "เมล็ดหมามุ่ยอินเดีย" จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะสาเหตุจากการกินหมามุ่ยหรือไม่ หรือเป็นเพราะผลข้างเคียงของยาชนิดใด โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดต่อไป
แต่ที่ชัดเจนคือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมายืนยันแล้วว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการขอขึ้นทะเบียนหรืออนุญาตการผลิตสารสกัดจาก "เมล็ดหมามุ่ย" ให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด มีเพียงกลุ่มยาสมุนไพรที่มีเพียง 2 ตำรับเท่านั้น และการใช้ก็ต้องมีข้อบ่งชี้ด้วย เนื่องจากใช้มากเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งไม่แตกต่างจากการใช้ยาแพทย์แผนปัจจุบันอื่นๆ ซึ่งต้องมีข้อบ่งชี้ทุกชนิด
เพื่อไม่ให้เกิดความแตกตื่นว่า "หมามุ่ย" อันตราย ไม่สามารถใช้ได้อีก เพราะอย่างไรเสีย "หมามุ่ย" จัดเป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานาน และมีศักยภาพเป็นภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยก็ว่าได้
มารู้จักข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่า "หมามุ่ย" นั้นเป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mu cuna pruriens (L.) DC. ชื่อวงศ์ FABA CEAE มีชื่ออื่นๆ ในภาษาถิ่น คือ "กลออื้อแซ","โพล่ยู", "มะเหยือง" และ "หมาเหยือง" แม้ "หมามุ่ย" จะเป็นสมุนไพรที่คันแสนคัน แต่กลับมีประโยชน์มากเช่นกัน
ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ เภสัชกรปฏิบัติการ โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ "หมามุ่ย" จะเป็นยาบำรุงท่านชาย โดยที่ประเทศอินเดียมีการวิจัยเรื่องนี้ทั้งในสัตว์ทดลอง และการทดลองวิจัยในมนุษย์ (เพศชาย) จำนวน 20 คน โดยให้กินก่อนและหลังทดลอง 3 เดือน
ผลการทดลองในมนุษย์ พบว่าช่วยเพิ่มความเข้มข้นของสเปิร์ม หรืออสุจิ ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มจำนวนของตัวอสุจิ เดิมโดยเฉลี่ยปริมาณอสุจิจะอยู่ที่ 8.7 ล้านตัวต่อ 1 มิลลิลิตร (ML) เพิ่มเป็น 91 ล้านตัวต่อ 1 มิลลิลิตร อีกทั้งยังทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิไปรังไข่ดีขึ้น มีผลต่อผู้ที่มีบุตรยาก
ส่วนอีกสรรพคุณคือ ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันนั้น ภก.ณัฐดนัยบอกว่า ประเทศอินเดียก็มีการวิจัยเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากโรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของสมองส่วนที่ควบคุมการหลั่งของสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว
ทั้งนี้ สารพิษอนุมูลอิสระมีส่วนในการทำลายเซลล์สมองที่ควบคุมการหลั่งของโดปามีน ผู้ป่วยจึงมักมีอาการมือสั่น และมักเป็นข้างเดียว เดินช้าลง แขนไม่แกว่ง ทรงตัวไม่สม่ำเสมอ เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ในรายผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดการหกล้มและนำไปสู่ภาวะกระดูกหักได้
จากการศึกษาพบว่า "เมล็ดหมามุ่ย" มีสารแอลโดปา (L-Dopa) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารโดปามีน ดังนั้น โดยหลักหากเพิ่มสารโดปามีนได้ ก็อาจบรรเทาอาการสั่นของภาวะพาร์กินสันได้ จึงถือว่าเป็นความหวังในการนำมารักษาโรคพาร์กินสัน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ยืนยันชัดเจนจะเป็นในกลุ่มเพิ่มสมรรถภาพทางเพศเป็นหลัก ส่วนอย่างอื่นยังไม่ชัดเจน ขณะที่เรื่องของการบำรุงร่างกาย ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า จะเป็นคำบอกกล่าวของหมอยาสมัยโบราณ ซึ่งใช้กันมานาน
"ภก.ณัฐดนัย" บอกถึงการรับประทาน "หมามุ่ย" ว่า แม้ปัจจุบันจะมีการผลิตในรูปของแคปซูลหรือผง แต่ภูมิปัญญาไทยสมัยก่อนจะกินโดยการนำ "เมล็ดหมามุ่ย" ไปคั่วด้วยความร้อนและบดเป็นผงๆ เพื่อให้เก็บไว้ได้ แล้วนำมาผสมกับน้ำร้อน หรือจะกินแบบเหมือนถั่วทั่วไปก็ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีการผสมกับนมหรือผสมกับกาแฟ แต่ด้วยที่ "หมามุ่ย" ถูกจัดเป็นยาสมุนไพร ก็มีการผลิตในรูปของแคปซูลขึ้นมา เพื่อสะดวกต่อการรับประทาน
"ประเด็นที่ต้องระวังสำหรับการกินยาสมุนไพรหมามุ่ย นั้นคือไม่ควรกินเกินวันละ 5 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา เนื่องจากหากกินในปริมาณมากๆ จะมีผลต่อความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้น การกินหมามุ่ยสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ก็ต้องระวังด้วย เนื่องจากเบาหวานจะมาพร้อมกับความดันโลหิต ขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน ทางที่ดีที่สุด คนที่จะกินผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจาก "หมามุ่ย" นั้น หากมีโรคประจำตัวขอให้ระมัดระวัง และต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาดีที่สุด" ภก.ณัฐดนัยเตือน ในส่วนของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ยาบำรุงท่านชายจาก "หมามุ่ย" และไม่ได้เปิดจำหน่ายเป็นการทั่วไป แต่จะมีเภสัชกร มีแพทย์คอยแนะนำด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์จาก "เมล็ดหมามุ่ย" นั้น ที่ผ่านมา รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาออกมาในชื่อ "ยาแฮงคนชาย" ซึ่งมี "เมล็ดหมามุ่ย" เป็นส่วนผสมหลัก นำมาคั่วให้สุก เพราะหากไม่สุกจะเกิดสารพิษขึ้นได้ จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับ "ตำยาน" ที่นำมาตำให้ละเอียดเช่นกัน และนำไปชงดื่มจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพของท่านชาย บำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า นอกจากนี้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรยังนำ "เมล็ดหมามุ่ย" มาทำในรูปแบบขนมกินเล่น โดยนำมาแช่น้ำแล้วต้มให้สุก จากนั้นจึงเคลือบคาราเมลเพื่อให้กินได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก "เมล็ดหมามุ่ย" มีลักษณะคล้ายถั่ว เพราะเป็นแป้ง แต่มีความแข็งกว่ามากทำให้กินได้ยาก จึงต้องใช้วิธีดังกล่าวจึงช่วยให้กินได้ง่ายขึ้น
สิ่งสำคัญ "ภก.ณัฐดนัย" ย้ำว่า "หมามุ่ย" จะต้องจัดจำหน่ายในรูปยาตำรับที่ควบคุมโดยแพทย์แผนไทย เนื่องจากผลวิจัยถึงภาวะข้างเคียงระยะยาวยังมีออกมาน้อย แต่ก็ต้องระมัดระวัง ปัจจุบันจึงยังไม่ผ่าน อย. ไม่สามารถจำหน่ายรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้
ดังนั้น ประชาชนต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อ เพราะขณะนี้มีการจำหน่ายในสังคมออนไลน์มาก และด้วยสรรพคุณดังกล่าว จึงมีการผลิตออกมามากมายและอวดอ้างสรรพคุณกันมากตามไปด้วย ประชาชนต้องหมั่นสังเกตว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน และควรดูตราสัญลักษณ์ของ อย.ด้วยว่ามีหรือไม่ และถ้ามีแล้วเป็น อย.ก็ควรตรวจสอบว่าเป็นตรา อย.จริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก
หากจะตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ มี อย.รับรองจริงหรือไม่ สามารถคีย์ตัวเลข อย.บนผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปใน อย.สมาร์ท แอพพลิเคชั่น (Oryor Smart Application) ได้
แต่อย่าลืมว่า สำหรับ "หมามุ่ย" แล้ว อย.ไม่เคยให้การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแม้แต่ตัวเดียว แม้ "หมามุ่ย" จะมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ แต่ก็มีอันตรายแฝงอยู่เช่นกันหากกินกัน "สุ่มสี่สุ่มห้า"
ข้อมูลจาก มติชน ฉบับวันที่ 22 มิ.ย. 2559
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต