ฉลาดซื้อ เผยทดสอบพบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติทุกตัวอย่างวอนรัฐฯ ตรวจสอบและควบคุมต่อเนื่อง
ห่วงผลกระทบสุขภาพเด็ก หลัง ”ฉลาดซื้อ”พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติ ทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แต่อยู่ในปริมาณที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX) วอนรัฐเร่งควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของนมต่อเนื่อง เหตุไทยร้อนชื้นเสี่ยงเชื้อราในอาหารวัวที่นำไปสู่การสร้างสารอะฟลาท็อกซิน
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่าง ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติจากร้านค้าทั่วไป จำนวน 24 ตัวอย่าง แบ่งเป็น นมโรงเรียน 8 ตัวอย่าง จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร และผลิตภัณฑ์นมรสธรรมชาติจำนวน 16 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อ จากร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ และตัวแทนจำหน่ายนม โดยสุ่มเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมกราคม 2565 นำมาทดสอบโดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อหาปริมาณสารอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 โดยพบว่าใน 20 ตัวอย่าง พบปริมาณในช่วง < 0.20 – 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และไม่พบ 4 ตัวอย่าง ดังนั้นทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
สารอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 (Aflatoxin M1) M หมายถึง Milk ก็คืออะฟลาท็อกซินที่พบในน้ำนมสัตว์ เมื่อโคนมกินอาหารที่ปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ซึ่งเป็นสารพิษก่อมะเร็งที่สร้างจากเชื้อรา จะถูกแปลงเป็นอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แล้วหลั่งออกมาในน้ำนม หากผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กๆ ดื่มนมที่ปนเปื้อนนี้เข้าไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ระบุว่า น้ำนม คือ น้ำนมดิบจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือเติมแต่งส่วนผสมอื่น มีลักษณะเป็นของเหลวสำหรับการบริโภคโดยตรง หรือนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปก่อนการบริโภค กำหนดให้มีอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในน้ำนมได้ไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม
โดยเมื่อปี 2561 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้ทดสอบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติเป็นครั้งแรก สรุปเปรียบเทียบผลทดสอบปี 2561 กับปี 2565 ดังนี้ จากตารางการเปรียบเทียบนี้พบว่า เปอร์เซ็นต์ตัวอย่างนมที่พบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ปริมาณที่พบในนมโรงเรียน และปริมาณน้อยที่สุดที่พบในนมที่ขายทั่วไปนั้น ต่างก็มีค่าตัวเลขที่ลดลง แต่ปริมาณที่พบสูงสุดในนมที่ขายทั่วไปกลับมีค่าเพิ่มขึ้น 0.12 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาโดยไม่รวมยี่ห้อเดียวที่มีปริมาณสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้เข้าไปด้วย ในตัวอย่างนมที่ขายทั่วไปอื่นๆ จะพบปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 อยู่ที่ <0.02 – 0.06 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม ซึ่งตัวเลขลดลงจากเดิมเช่นกัน
นอกจากนี้ มีตัวอย่างยี่ห้อนมที่ขายทั่วไปที่ทดสอบซ้ำกันอยู่ 11 ตัวอย่าง พบว่ามี 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลทท็อกซินเอ็ม 1 ลดลง และมี 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นยี่ห้อเอ็มมิลล์ นมพาสเจอร์ไรส์ ที่จากเดิมพบ <0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนยี่ห้อไทย-เดนมาร์ค นมยูเอชที จากเดิมพบ<0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม แต่ครั้งนี้กลับไม่พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 เลย
นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ แนะนำว่า “ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อนมจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน และปฏิบัติตามคำแนะนำข้างกล่อง เช่น ควรบริโภคก่อนวันที่ระบุ ควรดื่มให้หมดทันทีหลังเปิดดื่ม เก็บไว้ที่แห้ง ปลอดจากมดและแมลง ไม่ควรวางไว้ในที่ร้อนจัดหรือสัมผัสแสงแดดห้ามโยน ห้ามแช่น้ำ และ ไม่ควรบริโภคหากพบบรรจุภัณฑ์ชำรุด บวม หรือมีรูรั่ว หรือมีกลิ่นผิดปกติ”
และเนื่องจากประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้อาหารที่โคนมกินเข้าไปมีโอกาสเกิดเชื้อราที่สร้างสารอะฟลาท็อกซินได้ อีกทั้งนโยบายนมโรงเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการบริโภคนมได้มากขึ้น การควบคุมคุณภาพของนมให้บริโภคได้ปลอดภัยจึงสำคัญ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องคอยตรวจสอบการปนเปื้อนอะฟลาทอกซินเอ็ม1 ในนมและผลิตภัณฑ์นมนี้อย่างต่อเนื่อง