ภาคประชาสังคมทวงถามกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรทันที ห่วงไทยขาดยาฟาวิฯ รักษาโควิด 19 เรียกร้องถ้าไม่ยกคำขอฯ รัฐบาลต้องประกาศใช้ซีแอล
เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาดรอบที่ 3 ในไทย จำนวนผู้ติดเชื้อฯ และผู้ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว จำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไทยเคยนำเข้าหลายแสนเม็ด เริ่มมีคำสั่งให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ใช้อย่างประหยัด ต่อมาเอ็นจีโอและนักวิชาการที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงยาเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตัดสินใจยกคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ด่วน เปิดทางองค์การเภสัชเร่งผลิตนั้น
วันนี้ (23 เมษายน 2564) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ทวงถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกครั้ง หลังจากที่เคยยื่นเอกสารข้อมูลที่ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ควรได้สิทธิบัตรให้กับอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ เมื่อ 17 กรกฎาคม 2563 จากนั้นได้เข้าพบอธิบดีเพื่อให้เร่งการพิจารณาเมื่อ 26 มกราคม 2564 เพราะประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดโควิด 19 อีกระลอกและจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อีกจำนวนมาก
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จนถึงวันนี้ กรมทรัพย์สินฯ ยังไม่มีคำตัดสินออกมาและยังให้โอกาสบริษัทยาแก้ไขเอกสารคำขอฯ ได้อีก มองว่าเป็นการซื้อเวลาออกไปอีก และหากการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยังล่าช้าอยู่เช่นนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมจึงต้องการเรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (Compulsory Licensing หรือ CL) กับยาฟาวิพิราเวียร์ เช่นเดียวกับที่เคยประกาศใช้ในปี 2549 - 2550 เพื่อนำเข้าหรือผลิตยาเอง รวมถึงการนำมารักษาผู้ป่วย
“กรมทรัพย์สินฯ ไม่เพียงไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาด แต่กำลังทำสิ่งที่สวนทางกับโลก ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร ที่กรมทรัพย์สินฯ ยกร่างขึ้นมา ได้มีการแก้ไขให้ใช้มาตรการซีแอลได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงภาวะโควิด 19 แสดงให้เห็นแล้วว่า การผูกขาดด้วยสิทธิบัตรนั้นเป็นปัญหา” เฉลิมศักดิ์ กล่าว
ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ในชิลี อิสราเอล เอกวาดอร์ และรัสเซียประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ป้องกันและใช้รักษาโควิด 19 แล้ว ส่วนในเยอรมนี แคนาดา และอินโดนีเซียออก พ.ร.บ. ฉุกเฉินให้แก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรเพื่อลดขั้นตอนให้ประกาศใช้มาตรการซีแอลได้ง่ายขึ้น รวมถึงในประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศอินเดีย ก็ได้ยื่นข้อเสนอต่อองค์การการค้าโลกให้ระงับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ต่อสู้กับวิกฤตโควิด 19 ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกกว่าครึ่งสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร กรมทรัพย์ทรัพย์สินฯ ได้แก้ไขให้การประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน แต่ในกฎหมายปัจจุบันไม่ต้องผ่านความเห็นชอบฯ หน่วยราชการระดับกระทรวง และกรมทรัพย์สินฯ สามารถประกาศใช้ได้เลย นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินฯ ยังแก้ไขให้เจ้าของสิทธิบัตรสามารถฟ้องต่อศาลขอให้ระงับการประกาศใช้มาตรการซีแอลได้ด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการซีแอลถือเป็นอำนาจของรัฐที่ใช้เพื่อคุ้มครองประชาชน เมื่อประเทศเกิดวิกฤตหรือภาวะฉุกเฉินเพราะสิทธิบัตรเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา
ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำ กรณีนี้ถือว่าเป็นวิกฤตของประเทศ รัฐบาลต้องกล้าประกาศใช้มาตรการซีแอล และจะหวังพึ่งกรมทรัพย์สินฯ อย่างเดียวไม่ได้ รวมถึงต้องมีวิสัยทัศน์และมองการแก้ปัญหาของประเทศให้เท่าทันมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชกรรมของไทยนั้นมีความพร้อมที่จะผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ โดยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนยาเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ไปแล้ว และคาดว่าจะได้รับทะเบียนตำรับยาในเดือนกันยายนนี้
ขณะเดียวกัน บริษัทยาหลายบริษัทในอินเดียสามารถผลิตยาฟาวิพิเวียร์ได้แล้วเช่นกัน ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่จะผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมของไทยหรือที่ขายแล้วโดยบริษัทยาในอินเดียนั้นมีราคาถูกกว่าที่ไทยซื้อมาก่อนหน้าอยู่มากกว่าร้อยละ 50 เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ในความตกลง CPTPP ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และรัฐสภามีความเห็นชอบแล้วว่าประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วม แต่รัฐบาลยังพยายามที่จะเจรจาขอเข้าร่วมโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน ซึ่งการใช้มาตรการซีแอลอาจถูกใช้เป็นเหตุในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายผ่านอนุญาโตตุลการได้ และไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยามากขึ้นนับหมื่นล้าน เพราะเงื่อนไขในความตกลง CPTPP
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณเฉลิมศักดิ์ โทร. 0816129551
คุณนิมิตร์ โทร. 0816666047