สมาคมเพื่อนโรคไตเตือนภัยใกล้ตัวจากขนมขบเคี้ยว หวั่นเด็กไทยเป็นโรคไตก่อนวัยอันควร

 07042021 News pic

สมาคมเพื่อนโรคไต เปิดผลสำรวจโซเดียมในขนมขบเคี้ยว 400 ตัวอย่าง เตือนภัยใกล้ตัว หวั่นเด็กไทยเป็นโรคไตก่อนวัยอันควร พร้อมยื่นข้อเสนอเรื่องการลดปริมาณโซเดียมต่อทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานกำกับดูแล

           วันนี้ (7 เมษายน 2563) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านค่าฉลากโซเดียมกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนภัยใกล้ตัวจากขนมขบเคี้ยว และชวนให้ผู้บริโภคอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคอาหาร

               ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี พ.ศ. 2564 เริ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยสุ่มสำรวจทั้งหมด 400 ตัวอย่าง บนซองผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการทั้งแบบเต็มและแบบย่อ รวมถึงฉลากโภชนาการแบบ GDA ทั้งนี้ มีบางผลิตภัณฑ์ที่ไม่ระบุวันผลิตแต่มีวันหมดอายุระบุไว้บนซอง และพบผลิตภัณฑ์ประเภทถั่วและนัต 1 ตัวอย่างที่ไม่ระบุทั้งวันที่ผลิตและวันหมดอายุ รวมทั้งข้อมูลในฉลากโภชนาการกับฉลาก GDA ไม่ตรงกัน

               ศศิภาตา กล่าวอีกว่า สำหรับผลการสุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว สามารถแบ่งได้เป็น 9 กลุ่มตามประเภทขนม ดังนี้ 1) ประเภทมันฝรั่ง จำนวน 69 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 80 - 1,080 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 2) ประเภทข้าวโพด จำนวน  20  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  25 – 390  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 3) ประเภทข้าวเกรียบและขนมอบกรอบ  จำนวน 104  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  45 – 560  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 4) ประเภทสาหร่าย  จำนวน 19 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  0 – 510  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 5) ประเภทถั่วและนัต จำนวน 72 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  5 – 380 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 6) ประเภทปลาเส้น  จำนวน  36  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  180 – 810  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 7) ประเภทแครกเกอร์และบิสกิต จำนวน 38  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  45 – 230  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 8) ประเภทเวเฟอร์ จำนวน  27 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  25 – 150  มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค  และ 9) ประเภทคุกกี้  จำนวน  15  ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่  65 – 220   มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค *ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดผลการอ่านได้ที่นี่ ผลการอ่านฉลาก (ตาราง) | ผลการอ่านฉลาก (กราฟิก)

               ทั้งนี้ ศศิภาตา แนะนำว่า วิธีการอ่านฉลากปริมาณโซเดียมในขนมอย่างง่ายคือการดูที่ฉลากข้อมูลโภชนาการ โดยบนถุง หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ขนมจะมีปริมาณโซเดียมบอกไว้เป็นหน่วยมิลลิกรัม แต่สิ่งที่ต้องสังเกตคือปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งหมายถึงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค 1 ครั้ง สำหรับขนมห่อใหญ่ที่สามารถกินได้หลายวัน ฉลากข้อมูลโภชนาการอาจเขียนว่า 1 หน่วยบริโภค : ½ ซอง (30 กรัม) หมายความว่าขนมถุงดังกล่าวแบ่งรับประทานได้ 2 วัน ดังนั้น หากเรารับประทานหมดในครั้งเดียวโซเดียมที่ได้รับก็จะต้องคูณเพิ่มเข้าไป การดูปริมาณโซเดียมบนบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ขนมจึงต้องดู ‘ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค’ ด้วย และหากอยากทราบปริมาณโซเดียมของขนมทั้งถุง ก็จะมีระบุอยู่ในฉลาก GDA ซึ่งมักจะอยู่ด้านหน้าถุงขนม

Nutrition facts label

          ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการสื่อสารกับทั้งผู้บริโภค และมีข้อเสนอไปยังผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล โดยเป้าหมายทางฝั่งผู้บริโภค คือ เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย ส่วนข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ มี 2 ข้อ ได้แก่ 1) ให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว  2) ให้ผู้ประกอบการจัดทำฉลากให้ผู้บริโภคเห็นและตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่าย และสำหรับข้อเสนอต่อหน่วยงาน มีทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว  2) เพื่อสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจ  3) ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลักดันฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการอ่านฉลาก

          ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เด็กไทยกินเค็มเกินเกือบ 5 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ในอนาคตได้ ซึ่งในปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่มีขนาดอวัยวะที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะไตและหัวใจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเด็กได้รับโซเดียมจากอาหารที่มากเกินความต้องการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การติดกินเค็มจนเป็นนิสัยตั้งแต่เด็กก็ย่อมมีแนวโน้มที่ลิ้นจะติดเค็มไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน แต่ในขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียนอายุ 6-8 ปี ควรได้รับ เท่ากับ 325-950 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี เท่ากับ 400-1,175 มิลลิกรัม และอายุ 13-15 ปี เท่ากับ 500-1,500 มิลลิกรัมเท่านั้น เนื่องจากโซเดียมสามารถกระตุ้นน้ำลาย ทำให้เด็กอยากอาหารมากขึ้น ยิ่งกินก็ยิ่งติดเค็ม

          “การสำรวจปริมาณโซเดียมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวในครั้งนี้ ถือเป็นเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก และหากมีการผลักดันการเก็บภาษีเกลือสำเร็จและทางผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดเกลือโซเดียม และเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกโซเดียมต่ำออกสู่ตลาดมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งทางผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งในบางประเทศ เช่น ฮังการี อาหารที่มีเกลือไม่เกินเพดานที่กำหนด จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อีกด้วย” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

           มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร จากผลสรุปการอ่านฉลากโภชนาการและฉลาก GDA ในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นั้นพบว่าฉลากมี 2 ประเภท 1. ฉลากข้อมูลโภชนาการ ที่บอกข้อมูลต่อ 1 หน่วยบริโภค 2.ฉลาก GDA บอกข้อมูลต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ ซึ่งผู้บริโภคจะเลือกทานอาหารต้องอ่านฉลากทั้ง 2 ประเภทเพื่อตัดสินใจ และอาจเกิดความไม่เข้าใจและสับสนได้ ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือแสดงฉลากตามความจริง  และสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องและพอเพียง ไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่เป็นธรรม

           ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค และสนับสนุนเผยแพร่แอพพลิเคชั่นฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) สแกนก่อนกินเมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน และเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรเรื่องการอ่านฉลากให้กับเด็ก เพื่อลดภาวะโรคเรื้อรังในเด็ก

WgawGDMa

          ติดตามชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ [facebook LIVE] สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยเตือนภัยใกล้ตัวจากขนมขบเคี้ยว หวั่นเด็กไทยเป็นโรคไตก่อนวัยอันควร

Tags: มพบ., โรคไต, ลดเค็ม, สมาคมเพื่อนโรคไต, ลดโซเดียม, NCDs, ขนมขบเคี้ยว, ขนมซอง, ขนมถุง, โรคไตมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน