มพบ. ชง อย. เอาผิด ‘โฆษณาเกินจริง’ ถึงที่สุด

 Supplement

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายและดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด กรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเกินจริง ย้ำ ‘กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วต้องไม่ตาย

          จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องที่มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ทำจากถั่งเช่า โดยเนื้อหาระบุว่า “ก่อนที่พ่อจะกินถั่งเช่า พ่อไม่เคยป่วย ไม่เคยเป็นอะไรนอกจากบ่นปวดแข้งปวดขาตามประสาคนแก่ แต่ช่วง 4 - 5 เดือนก่อนที่พ่อจะเสีย พ่อกินถั่งเช่าเพราะพ่อดูตามโฆษณาในรายการทีวี อาการของพ่อก่อนไปโรงพยาบาลคือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หมอวินิจฉัยว่าน้ำท่วมปอด แล้วก็ตรวจดูค่าไต พบว่าค่าไตต่ำมากหรือไตวายระยะสุดท้าย หมอตรวจเจอสารพิษในร่างกายมีปริมาณเยอะมาก หมอถามว่าในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ได้กินยาหรืออาหารเสริมอะไรมาบ้าง ยาที่พ่อกินก็คือถั่งเช่า พ่อจากไปไวมาก ไม่ทันได้ตั้งตัว และถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ซื้อถั่งเช่าให้พ่อกิน”

          รวมถึงกรณีอาหารเสริมของ ‘กาละแมร์-พัชรศรี’ ที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงบนออนไลน์ จนถูก อย. ตรวจสอบและแจ้งดำเนินคดีแล้ว (อ่านข่าวได้ที่ อย. เชือด กาละแมร์ พิธีกรดัง รีวิวอาหารเสริมโอ้อวดเกินจริง) นั้น
Hype

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์ : อุทธาหรณ์สอนใจ #ถั่งเช่า

           สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการด้านสื่อและโฆษณา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า สังคมไทยทุกวันนี้มีการใช้สื่อโฆษณาที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายในทุกช่องทาง ผู้ประกอบการสามารถผลิตสื่อโฆษณาเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเหมือนดาบสองคม ที่มีข้อดีคือทำให้ธุรกิจเติบโตได้รวดเร็ว มีผู้ประกอบการรายย่อยเกิดขึ้นมากมาย แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ชีวิตของผู้บริโภคมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการเสพสื่อที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองอย่างมีคุณภาพ

          “การจะโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน แต่หากลองสังเกตข้อความในโฆษณาจะพบว่า ผลิตภัณฑ์จำนวนมากมักโฆษณาว่ามีเลข อย. แต่ไม่ได้ระบุเลขที่อนุญาตโฆษณาลงไปด้วย ผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้ว่าโฆษณานั้นได้รับอนญาตจาก อย. หรือไม่ ทั้งนี้ อาจจะมีทั้งโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาต และโฆษณาที่ขออนุญาตแล้วแต่ใช้คำโฆษณาไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาตจาก อย.” สถาพรกล่าว

19012021 news pic

          นักวิชาการด้านสื่อและโฆษณา มพบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ อยากเสนอให้ปรับปรุงบทลงโทษใน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ให้หนักขึ้นเพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัวและไม่ทำผิดซ้ำ อีกทั้ง เมื่อมีกรณีโฆษณาเกินจริงเกิดขึ้น อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบังคับใช้กฎหมายและดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด โดยกฎหมายที่สามารถหยิบยกขึ้นมาใช้ในกรณีโฆษณาเกินจริง ได้แก่

  • มาตรา 40 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีใจความว่า ห้ามโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ที่กระทำผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ โดยผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สายด่วน 1556
  • มาตรา 41 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีใจความว่า หากจะโฆษณาอาหาร (รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ หรือสื่ออื่นๆ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนําเสียง ภาพ คลิปวิดีโอหรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ที่กระทำผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โดยผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สายด่วน 1556
  • ในกรณีที่โฆษณาบนสื่อออนไลน์ จะถือว่าผิด มาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ที่มีใจความว่า การนำข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยที่ข้อมูลนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้ที่พบเห็นการประทำความผิดสามารถร้องเรียนได้ที่ สถานีตำรวจ พื้นที่เกิดเหตุ
  • มาตรา 341 ของประมวลกฎหมายอาญา มีใจความว่า ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอก และผู้กระทำได้ทรัพย์สินจากผู้ที่ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุไว้ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          สถาพรกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่อยากให้ยกประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน (มาตรา341 และ 343 ขึ้นมาใช้ เนื่องจากเป็นบทลงโทษที่ค่อนข้างหนักและไม่สามารถยอมความได้ โดยคำจำกัดความของการฉ้อโกงประชาชน จะต้องเข้าข่าย 3 ข้อนี้ คือ 1. แสดงข้อความเป็นเท็จหลอกลวง 2. มีเจตนาให้คนทั่วไปทุกคนหลงเชื่อโดยไม่เจาะจง 3. ไม่จำเป็นต้องมีผู้เสียหาย 10 คนขึ้นไปซึ่งการโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อออนไลน์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็เข้าข่ายทั้ง 3 ข้อนี้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงประชาชนได้ที่ เพจปรึกษากฎหมาย ร้องเรียน ร้องทุกข์)

          “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกมีคนเสียชีวิตจากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ในฐานะองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคก็หวังว่ากรณีจะเป็นกรณีสุดท้าย ‘กินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วต้องไม่ตาย’ ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายขั้นสูงสุดกับคนที่ทำโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้ เพราะการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริงอาจทำให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิตได้ และอยากฝากถึงศิลปิน ดารา เน็ตไอดอล หรือผู้ที่รีวิวสินค้าต่างๆ หากไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริง ก็ควรระบุหรือบอกในคลิปไปเลยว่านี่คือการโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคนำไปประกอบการตัดสินใจซื้อได้ถูกต้อง” สถาพรกล่าว

Tags: ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร , โฆษณาเกินจริง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ, มพบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, อย., ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย, ถั่งเช่า, กาละแมร์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน