ภาคประชาสังคมหนุนร่างกฎหมายสารเคมีฉบับใหม่

310562 Chemical 2

ภาคประชาสังคมหนุนร่างกฎหมายสารเคมีฉบับใหม่ ชี้เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศที่จะครอบคลุมการจัดการสารเคมีอย่างครบวงจร พร้อมยื่นความเห็นเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการแห่งชาติฯ 

จากการที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมี และกำหนดให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ในการพัฒนากฎหมายสารเคมีของประเทศให้ครอบคลุมวงจรของสารเคมี เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมี ได้จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติสารเคมี พ.ศ. .... ขึ้นแล้ว และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1/2562 โดยจะปิดรับฟังความเห็นรอบดังกล่าวในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 นั้น

310562 Chemical 3

วันนี้ (31 พฤษภาคม 2562) ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คอบช. และนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเป็นตัวแทนของเครือข่ายภาคประชาชน 16 องค์กรในการยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. สารเคมี พ.ศ.... ต่อ นพ. พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คอบช. และรองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ สนับสนุนการแก้กฎหมายสารเคมีครั้งนี้ และเน้นย้ำว่าหลักการของกฎหมายควรประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 4 ประการ คือ ประการแรก ‘หลักการป้องกันไว้ก่อน’ (Precautionary Principle) ซึ่งหมายรวมถึงการระบุว่าสารเคมีที่มีจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีการจำหน่ายในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Certificate of free sale) ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งระบายสารเคมีอันตรายที่ต่างประเทศเลิกผลิตและเลิกจำหน่ายแล้ว

ประการต่อมา หลักการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและการปลอดจากการมีส่วนได้เสีย’ ภาคประชาชนเสนอให้มีการปรับสัดส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ โดยจะต้องมีผู้แทนองค์การสาธารณะประโยชน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงผลกำไร และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นตัวหลักในการจัดการสารเคมีในระดับพื้นที่ รวมถึงขอให้ลดสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง

310562 Chemical 1

ประการที่สาม ‘หลักการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส’ จะต้องครอบคลุมถึงข้อมูลการประเมินสารเคมี ข้อมูลกระบวนการพิจารณาประเมินสารเคมี ข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมี ข้อมูลความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของสารเคมีต่อสาธารณะ เป็นต้น และ ประการสุดท้าย ‘หลักการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต’ ต้องครอบคลุมถึงความรับผิดชอบในกรณีที่มีการยกเลิกการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ บริษัทผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปกำจัดให้ถูกต้อง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ปรับปรุงร่างกฎหมายในประเด็นอื่นๆ เช่น รายละเอียดว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการทั้ง 3 ระดับ การเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อมูลของผู้ประกอบการ หน้าที่และความรับผิดตามกฎหมาย และการระวางโทษสำหรับผู้กระทำผิด

ผศ.ดร.ยุพดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนากฎหมายสารเคมีขึ้นใหม่นี้จะนำไปสู่การยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 และ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 และจะเปลี่ยนชื่อกฎหมายเป็น “พระราชบัญญัติสารเคมี พ.ศ. ....” โดยจะเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศที่จะครอบคลุมการจัดการสารเคมีอย่างครบวงจรทั้งการผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่าน นำกลับเข้ามา ส่งกลับออกไป มีไว้ในครอบครอง ขาย ขนส่ง ใช้ บำบัด กำจัดทำลาย และนำกลับมาใช้อีก รวมถึงการรับคืนซากภาชนะหรือหีบห่อบรรจุภัณฑ์สารเคมีเพื่อนำไปบำบัด กำจัดทำลาย หรือนำกลับมาใช้อีก

310562 Chemical 4

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ตัวแทนเครือภาคประชาสังคมฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พ.ร.บ. วัตถุอันตรายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันรวมถึงกฎหมายย่อยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นโครงสร้างและองค์ประกอบที่เป็นปัญหามากกว่าเอื้อให้มีการแก้ปัญหาไปในทางที่ถูกต้อง เพราะภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการถ่วงดุลย์และตรวจสอบการใช้อำนาจและการทำหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวได้

“ปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการใช้และการยกเลิกสารเคมีอันตรายในประเทศไทยหลายเรื่อง ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากติดปัญหาอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยข้าราชการและผู้แทนจากอุตสาหกรรมเคมีเท่านั้น เช่นกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่สั่งเพิกถอนพาราควอต เนื่องจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายกับบริษัทผู้ค้าสารพาราควอตดังนั้น เชื่อว่าหากผลักดันกฎหมายสารเคมีฉบับนี้สำเร็จและมีผลบังคับใช้ในอนาคต ประเทศไทยจะมีกฎหมายการจัดการสารเคมีที่ดีที่สามารถปกป้องสุขภาพประชาชน คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีอันตรายลงได้ มีความโปร่งใสในการจัดการสารเคมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศปลอดภัยและยั่งยืน”  นางสาวปรกชลกล่าว

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook LIVE : การยื่นหนังสือและแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อ ร่าง พ.ร.บ. สารเคมี พ.ศ....

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI), สารเคมีอันตราย, พ.ร.บ. สารเคมี

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน