ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเล็กน้อย ในแป้งสาลีทำขนมอบ 13 ยี่ห้อ จากทั้งหมด 19 ยี่ห้อ โดยปริมาณกรดเบนโซอิกที่พบอาจมาจากวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นในกระบวนการผลิตแป้งสาลีที่ไม่ใช่กรดเบนโซอิก แต่เป็นสารเคมีอื่นที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกัน พร้อมแนะผู้ผลิตขนมเลือกใช้แป้งวัตถุดิบที่ไร้สารฟอกสี
นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์แป้งสาลี จำนวน 19 ตัวอย่าง (สุ่มเก็บตัวอย่างแป้ง ระหว่างเดือนสิงหาคม - เดือนกันยายน 2561) ซึ่งตรวจวิเคราะห์สารกันบูด 3 ชนิด ได้แก่ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur Dioxide)
จากผลทดสอบ ผลิตภัณฑ์ 6 ยี่ห้อ ไม่พบสารกันบูดทั้งสามชนิด ได้แก่ แป้งสาลี ตราริบบิ้น (แป้งเค้ก), แป้งสาลี ตรากบ (แป้งอเนกประสงค์), แป้งสาลี ตราบัวหิมะ (แป้งสาลีชนิดพิเศษ), แป้งเค้กเนื้อละเอียด ตรามงกุฎม่วง, แป้งเค้ก ตราพัดโบก และแป้งสาลี ตรายานอวกาศ (แป้งขนมปัง)
ส่วนผลิตภัณฑ์อีก 13 ยี่ห้อ ตรวจพบกรดเบนโซอิก ปริมาณดังแสดงในตารางต่อไปนี้
ลำดับ | ยี่ห้อ | ปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบ (มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักแป้ง) mg/kg |
1 | แป้งสาลี ตราริบบิ้น (แป้งเค้ก) | ไม่พบ |
2 | แป้งสาลี ตรากบ (แป้งอเนกประสงค์) | ไม่พบ |
3 | แป้งสาลี ตราบัวหิมะ (แป้งสาลีชนิดพิเศษ) | ไม่พบ |
4 | แป้งเค้กเนื้อละเอียด ตรงมงกุฎม่วง | ไม่พบ |
5 | แป้งเค้ก ตราพัดโบก | ไม่พบ |
6 | แป้งสาลี ตรายานอวกาศ (แป้งขนมปัง) | ไม่พบ |
7 | แป้งเค้ก ตรากิเลนแดง | 2.52 |
8 | แป้งเค้ก ตรามัมเมด | 3.56 |
9 | แป้งอเนกประสงค์ ตราดาว | 17.52 |
10 | แป้งสาลีอเนกประสงค์ ตราฮกแดง | 23.92 |
11 | แป้งปาท่องโก๋ ตราต้นสน | 29.01 |
12 | แป้งอเนกประสงค์ ตราว่าว | 29.93 |
13 | แป้งสาลี จาก AMERICAN WHEAT (PI) ตรา PI | 47.66 |
14 | แป้งอเนกประสงค์ ตราเชอรี่ฟ้า | 48.62 |
15 | แป้งขนมปัง ตราหงส์ขาว | 49.54 |
16 | แป้งอเนกประสงค์ ตรามัมเมด | 49.78 |
17 | แป้งขนมปัง ตรามัมเมด | 54.46 |
18 | แป้งสาลีพิเศษ ตรากิเลนเหลือง | 69.63 |
19 | แป้งสาลีชนิดพิเศษ ตราบัวแดง | 71.66 |
หมายเหตุ : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น (เก็บตัวอย่าง เดือน ส.ค. – ก.ย. 2561)
ซึ่งปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบเพียงเล็กน้อยในแป้งสาลี 13 ยี่ห้อนั้น อาจไม่ใช่การจงใจใส่วัตถุกันเสีย ประเภทกรดเบนโซอิกโดยตรง เนื่องจากปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบไม่สูงพอที่จะเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตในการยืดอายุอาหาร แต่อาจเป็นวัตถุเจือปนอาหารอื่นที่ใช้เพื่อการฟอกสีแป้งสาลีให้ขาว ประเภท เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ในกระบวนผลิตแป้ง ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่มีการกำหนดค่าวัตถุกันเสียกลุ่มเบนโซเอต (Benzoates) ในแป้ง แต่มีการกำหนดค่าเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ INS 928 ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารฟอกสี สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง และสารกันเสียในแป้งไว้ไม่เกิน 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม การได้รับสารกันบูดมากเกินไปสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ คือ พิษเฉียบพลัน เมื่อได้รับปริมาณสูงจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออกและหมดสติในที่สุด รวมถึงทำให้เป็นพิษกึ่งเรื้อรังและพิษเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดในปริมาณไม่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการเป็นมะเร็งลำไส้ได้ รวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตับและไตลดลง จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยทดสอบวัตถุกันเสียในขนมอบมาแล้วหลายครั้ง และพบการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียในปริมาณที่ไม่มากนัก ซึ่งผู้ผลิตยืนยันว่าไม่มีการเติมวัตถุกันเสียใดๆ ลงในขนมอบ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าวัตถุกันเสียที่ตรวจพบอาจมาจากวัตถุดิบ เช่น แป้งทำขนม เป็นต้น จึงเสนอแนะให้ผู้ผลิตขนมอบเลือกใช้แป้งสาลีจากโรงงานผลิตแป้งที่ปลอดสารฟอกขาวและสารกันเสีย รวมทั้งเสนอให้บริษัทผู้ผลิตแป้งระบุข้อความบนฉลากให้ผู้บริโภคทราบ กรณีแป้งมีการฟอกขาวหรือมีการเติมวัตถุกันเสียประเภทต่างๆ ลงในผลิตภัณฑ์
อ่านบทความ “สารกันบูดในแป้งทำขนม” นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 212 ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/2971
--------------------------------
สอบถามเพิ่มเติม คุณชนิษฎา
โทร. 081 - 356 - 3591