มพบ. แนะ อย. เร่งตรวจสอบและคุมเข้มมาตรฐานการผลิตอาหารกระป๋อง

 

pl17331608 private label atlantic mackerel canned fish in tomato sauce without chili pepper

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มพบ. ชี้ ปัญหาอาหารกระป๋องควรได้รับการแก้ไข แนะ อย. เร่งตรวจสอบและคุมเข้มมาตรฐานการผลิต

          จากกรณีที่มีการเข้าแจ้งความที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี เรื่องการพบหนอนในปลากระป๋อง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561 นั้น

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้รับเรื่องร้องเรียนที่คล้ายคลึงกับกรณีดังกล่าวหลายกรณี ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไข โดยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ปลากระป๋องถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารควบคุมเฉพาะ ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคมากที่สุดและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและกำกับดูแลอย่างเข้มงวดที่สุด มีการกำหนดด้านคุณภาพหรือมาตรฐาน รวมทั้งการแสดงฉลาก การอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มนี้ จะพิจารณารายละเอียดของอาหาร เช่น สูตร กรรมวิธีผลิต ฉลาก รวมทั้งต้องส่งรายงานผลการตรวจวิเคราะห์มาประกอบการพิจารณา ดังนั้นจึงมีการคุ้มครองผู้บริโภคในหลายเรื่อง ตั้งแต่สูตร ฉลาก ภาชนะ การผลิต รวมถึงการจำหน่าย อีกทั้งยังเข้าข่ายบทลงโทษ เรื่องการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          “หากมีความเสียหายเกิดขึ้น และอยู่ในความรับผิดชอบของอย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) อย.ควรเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานการผลิตของโรงงานดังกล่าวทันที โดยไม่ต้องรอการร้องเรียนจากผู้บริโภค หรือหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้อย. ควรมีมาตรการตรวจสอบโรงงานหลังจากมีการขอใบอนุญาตอย่างสม่ำเสมอ ทุก 1 หรือ 2 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค” นางนฤมลกล่าว

          นางนฤมล กล่าวอีกว่า สำหรับผู้บริโภคที่พบปัญหาควรถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน ส่วนสินค้าที่มีปัญหาสามารถส่งตรวจได้ที่อย. หรือสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หากมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารนั้นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและขอใบรับรองแพทย์พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งความและใช้ยืนยันเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการ จากนั้นจึงติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือ มพบ. ให้ดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

 

 ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ http://www.newmanfoods.com

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน