เครือข่ายผู้ป่วย ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่า สตง. จี้ทบทวนตีความกม.บัตรทองยึดเจตนารมณ์ หลังชี้ สปสช.ไม่มีอำนาจจัดซื้อยาจนระบบยาบัตรทองป่วน ซ้ำอาจทำให้บอร์ด สปสช.เสี่ยงทำผิดกฎหมายจากมติมอบ รพ.ราชวิถีจัดซื้อยาแทน
วันนี้ (12 ก.ย.2560) เครือข่ายผู้ป่วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ สตง.ทบทวนการตรวจสอบและตีความ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อกรณีการจัดซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากขณะนี้กลไกต่อรองและจัดซื้อยารวมภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กำลังเผชิญปัญหาจากการตรวจสอบและตีความของ สตง.ที่ระบุว่า สปสช.ไม่มีอำนาจและทำเกินกว่ากฎหมายกำหนด ส่งผลให้ บอร์ด สปสช.เสียงข้างมากเห็นชอบให้ รพ.ราชวิถี ทำหน้าที่จัดซื้อยาในฐานะเครือข่ายหน่วยบริการแทน ตามข้อเสนอของ สตง.ที่อาจสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย นอกจากนี้การตีความของ สตง. ยังผิดเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า การตีความของ สตง.ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทางอ้อมและทางตรงกับผู้ป่วย หลายคนมีความกังวลทั้งตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องรับยาต่อเนื่อง และต้องกินยาไปตลอดชีวิต รวมทั้งในบางรพ.ก็เริ่มมีความกังวลและต้องการทราบความชัดเจนต่อระบบการสั่งยา โดยเครือข่ายผู้ป่วยพบว่า ขณะนี้ รพ.บางแห่งได้เริ่มลดจำนวนการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยลง เช่นกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจากเดิมที่ได้รับยาต่อเนื่อง 3 เดือนครั้ง กลับได้รับยาเพียง 2 สัปดาห์ครั้ง หรือเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางมารับยาบ่อยขึ้น นอกจากนี้ยังเกรงว่า หากการดำเนินการของ รพ.ราชวิถีไม่เชี่ยวชาญพอก็อาจทำให้ผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่องเกือบ 400,000 ชีวิตเกิดปัญหาขาดแคลนยาได้ ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้ป่วย แต่อาจส่งผลกระทบต่องบประมาณประเทศที่ต้องจ่ายค่ารักษาสูงขึ้น
“แม้ว่าปัญหาที่เกิดในพื้นที่จะยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่การที่บอกให้ผู้ป่วยว่าไม่ต้องกังวล หรือบางคนใช้คำว่าอย่าเพิ่งออกมาดราม่ากัน ให้รอดูผลการทำงานของรพ.ราชวิถีก่อนนั้น ต้องบอกว่าเราไม่ได้ ดราม่า เรื่องนี้เป็นเรื่องชีวิต กว่าที่เราจะต่อสู้ให้มียาในราคาที่สมเหตุผล และเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบ บัตรทองได้นั้นต้องใช้เวลาหลายปี มีเม็ดยาแล้วก็ใช่ว่าจะราบรื่น ที่ผ่านมาเครือข่ายฯต้องทำงานหนักในพื้นที่ สร้างความเข้าใจ ทำให้เพื่อนกินยาต่อเนื่องลดปัญหาดื้อยา แต่ข้อเสนอแนะของสตง.กลับส่งผลกระทบและสร้างความสับสนปั่นป่วนต่อระบบ” นายอภิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ สตง.เข้าข่ายลักษณะการควบคุมตรวจสอบและใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรวม เราจึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในมาตรา 43(3) “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยเร็ว” ก่อนที่บอร์ด สปสช.จะมีการทำผิดกฎหมายซ้ำอีก ซึ่งทราบว่า รมว.สาธารณสุขจะมีการนำเรื่องจัดซื้อยาโดยมอบให้รพ.ราชวิถีทำหน้าที่ เข้าเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันนี้ด้วย
นายธนพลธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่ได้ขอให้ สตง.พิจารณาตีความให้ความเห็น คือ 1.มาตรา 3 นิยามคำว่า “เครือข่ายหน่วยบริการ” ซึ่งการกำหนดให้ รพ.ราชวิถีเป็นเครือข่ายหน่วยบริการและเป็นแกนกลางในการทำหน้าที่จัดซื้อจะทำได้หรือไม่ 2. หาก รพ.ราชวิถีเป็นเครือข่ายหน่วยบริการได้ จะรับเงินกองทุนเพื่อจัดซื้อยาได้หรือไม่ เนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และ 3. การออกหลักเกณฑ์หรือระเบียบโดยบอร์ด สปสช. เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 3 (12) “ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อการบริการสาธารณสุขตามคณะกรรมการกำหนด” เพื่อให้ สปสช.สามารถเป็นผู้จัดหาและจัดซื้อยารวมระดับประเทศ