อย.เตือนผู้บริโภค ระวัง อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่าสามารถดีท็อกซ์เท้าโดยใช้วิธีการปิดที่บริเวณฝ่าเท้า และโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ทางเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ย้ำ! เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการที่ อย. ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับดีท็อกซ์เท้า ทางเว็บไซต์ และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และมีการอวดอ้างสรรพคุณ ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยอาการการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงเวลากลางคืน ด้วยวิธีการปิดที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอนนั้น เมื่อเทียบเคียงกับการวินิจฉัยประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีวิธีการใช้และมีการกล่าวอ้างผลที่เกิดต่อร่างกาย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน อย. สันนิษฐานเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ 2551 ดังนั้น หากเป็นไปตามข้อสันนิษฐานดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการอนุญาตทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และการโฆษณา แต่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับ ดีท็อกซ์เท้าชนิดนี้ ไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตโฆษณาจากทาง อย. ซึ่งขณะนี้ อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่ามีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายในผลิตภัณฑ์หรือไม่ พร้อมกับดำเนินการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อมาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป สำหรับผู้บริโภคขอให้ระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อร่างกายของตนเองได้
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า กรณีดังกล่าวเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประกอบการอย่างมีคุณธรรม อย่าโฆษณาด้วยวิธีต่าง ๆ ในลักษณะที่เกินความเป็นจริง และหากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างในลักษณะดังกล่าวผ่านทางช่องทางสื่อต่าง ๆ ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วย อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ภาพประกอบจาก อย.