ร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบ คสช.จะใช้ม.44 ปล่อยผี

600306 news2
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบเรื่องที่ คสช.จะใช้ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตร

ตามที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา และขอให้ทบทวนด้วยเหตุผลตามรายละเอียดข่าวที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้ร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบเรื่องที่ยื่นหนังสือถึงคสช.ด้วย

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้ไปหารือกับ อย.และเสนอว่า ข้อเสนอที่ภาคประชาสังคมเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ม.44 เรื่อง สิทธิบัตร ของกระทรวงพาณิชย์ มี 2 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ให้แยกคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ ออกจากสิทธิบัตรด้านอื่น 2. ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตรใหม่ที่จะดำเนินการตรวจสอบสิทธิบัตรด้านยาโดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก อย.กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการมาเป็นผู้ให้การอบรม”


“และในวันพรุ่งนี้ ( 7 มี.ค. 60) บ่าย 2 เรามีนัดหารือกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงประเด็นนี้ด้วย” นางสาวกรรณิการ์กล่าว

 

รายละเอียดจดหมาย

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรื่อง          เรื่อง  ให้ตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสิทธิการเข้าถึงยาและการรักษาของประชาชน

เรียน    ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารประกอบ 1 ชุด

                                      

จากข่าวที่ปรากฏเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาการพิจารณาออกสิทธิบัตรล่าช้าที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ โดยจะเร่งออกสิทธิบัตร และผ่อนผันไม่ต้องตรวจคำขอฯให้ละเอียดกรณีที่มีการยื่นจดในไทยแต่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศอื่นแล้ว กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เห็นว่าการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในการเข้าถึงสิทธิการรักษาและยาจำเป็น ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้

  1. การจะออกคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนการศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาและออกสิทธิบัตรอย่างรอบด้าน  ความล่าช้าดังกล่าวนอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว สาเหตุสำคัญคือ บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายา
  2. การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ ในขณะที่มีการจัดทำบัญชีนวัตกรรมยาชื่อสามัญเพื่อเตรียมการผลิตยาได้เองในประเทศตามนโยบาย 4.0 หากคำสั่งนี้บังคับใช้จะทำให้ไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ และกลับทำให้เกิดการผูกขาดการผลิตและทำให้ยาราคาแพงมากขึ้น
  3. การเร่งออกสิทธิบัตรจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้ การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  นายกฯต้องเข้าใจก่อนว่าการให้สิทธิบัตรกับสิ่งประดิษฐ์มีเพื่อสนับสนุนส่งเสริมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมไทย จึงต้องเน้นคำขอของคนไทย ไม่ใช่เน้นรับจดสิทธิบัตรของผู้ประดิษฐ์จากต่างประเทศ การเน้นรับจดต่างประเทศคือความคิดที่ผิด และเป็นผลร้ายต่อธุรกิจไทยทุกสาขารวมทั้งนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล  
  4. การเร่งออกสิทธิบัตรอาจส่งผลให้กลไกการตรวจสอบและคัดค้านคำขอฯ ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งในขณะที่กระบวนการปัจจุบันยังมีปัญหาในการติดตามสืบค้นเพื่อยื่นคำคัดค้านให้ทันภายใน 90 วันนับจากวันประกาศโฆษณา คำสั่งดังกล่าวยิ่งเป็นการทำลายระบบการถ่วงดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ประดิษฐ์และประชาชน ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณ

             หากมีการประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรจะส่งผลต่อระบบการพิจารณาสิทธิบัตรโดยเฉพาะสิทธิบัตรยาตามเหตุผลข้างต้น ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้มาตรา 44 จะส่งผลต่อระบบสุขภาพของไทย และส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงยาและการรักษา โดยเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองในรัฐธรรมนูญ และสนธิสัญญาของสหประชาชาติที่ไทยร่วมเป็นภาคี

องค์กรภาคประชาสังคมจึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสิทธิการเข้าถึงยาและการรักษาของประชาชนหรือไม่ ทั้งนี้ทางผู้แทนยินดีที่จะเข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน