22 ก.ค. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เวลา 13.00 น.เครือข่ายผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เข้ายื่นข้อเสนอการแก้ไข พระราชบัญญัติสิทธิบัตร ต่อ อย.
ด้วยกระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เสนอ“ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามสำเนาหนังสือกระทรวงพาณิชย์ ที่ พณ ๐๗๐๒/๔๒๒๘ ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ นั้น
จากการพิจารณาและศึกษาร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ โดยนักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและผู้บริโภค และองค์กรภาคประชาชน ซึ่งได้ติดตามการแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตรมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ายังมีสาระสำคัญในร่างแก้ไขฉบับกระทรวงพาณิชย์ที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาและแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย โดยมีหลักการและสาระสำคัญในการพิจารณาและแก้ไขร่าง พระราชบัญญัติสิทธิบัตรดังกล่าว ดังนี้
หลักการในการพิจารณาแก้ไขร่าง พระราชบัญญัติสิทธิบัตร
๑. ต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติในทุกภาคส่วน
๒. ต้องนำไปสู่การพัฒนาระบบสิทธิบัตรที่เน้นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและผู้บริโภค ควบคู่กับการส่งเสริมการประดิษฐ์คิดค้น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีของคนไทย
๓. ต้องสอดคล้องกับ “ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights TRIPS / ความตกลงทริปส์) และปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และสาธารณสุข (Doha Declaration on The TRIPS Agreement and Public Health / WT/MIN/DEC/W/2, 14 November 2001)” และไม่ให้สิทธิแก่ธุรกิจต่างประเทศมากเกินกว่าความตกลงและปฏิญญาดังกล่าว
๔. ต้องไม่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตย โดยแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในลักษณะผูกพันประเทศเกินไปกว่าพันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ในปัจจุบัน
สาระสำคัญที่เสนอแก้ไข มีดังนี้
๑. การสร้างความชัดเจนในการให้ความหมายของขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นตามมาตรา ๗
- เสนอให้มีการเพิ่มข้อความ/ความหมายรายละเอียดที่มีความชัดเจนในการพิจารณาต่อผลิตภัณฑ์หรือวิธีการประดิษฐ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับยา เพราะมีลักษณะจำเพาะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจนในกระบวนการจดทะเบียนขอสิทธิบัตร และเพื่อป้องกันการจดสิทธิบัตรอำพราง/แอบแฝง อันจะเป็นผลเสียต่อการเข้าถึงยาและบริการสาธารณสุขของประเทศ
- เพื่อให้การตรวจสอบการประดิษฐ์มีความรัดกุม รอบคอบ และช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์ที่จะขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตร
- เพื่อป้องกันสิทธิบัตรที่ไม่สามารถนับเป็นขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น จากกระบวนการจดสิทธิบัตรแบบยืดอายุของการผูกขาด โดยการแปรเปลี่ยนข้อถือสิทธิไปเพียงเล็กน้อยในการจดสิทธิบัตรครั้งใหม่ (evergreening patent / สิทธิบัตรอมตะ) เช่น สิ่งประดิษฐ์บางส่วนที่เกี่ยวกับยา อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของนักประดิษฐ์ไทย และทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการเข้าถึงยา
- เพิ่มบทลงโทษ ผู้ขอจดสิทธิบัตรประเภท evergreening patent
๒. ต้องคงไว้ซึ่งโอกาส ยื่นคัดค้านก่อนการรับจดทะเบียน ดังที่ปรากฎในกฎหมายสิทธิบัตรเดิม โดยต้องขยายเวลาการยื่นคัดค้านจากเดิมเพียง ๙๐ วัน เป็น ๑ ปี หรือก่อนที่จะมีการออกเอกสารสิทธิบัตร
๓. ต้องเพิ่มโอกาสในการยื่นคัดค้านหลังการได้รับสิทธิบัตรแล้วได้ด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องไปโยงกับสิทธิในการฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิบัตร
๔. เพื่อให้สามารถใช้มาตรการการใช้สิทธิ (Compulsory licensing, CL) ภายใต้กฏหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้สิทธิโดยรัฐบาล ร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรนี้จะต้อง
- เพิ่มความหมายของ หน่วยงานในกำกับของรัฐ หมายรวมถึงหน่วยงานของรัฐทุกประเภท เช่น องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ฯลฯ เพื่อให้ทันสมัยและกว้างกว่า กระทรวง ทบวง กรม
๕. ตัดข้อกำหนด หรือประกาศ ชื่อโรค/ยา ไม่ว่าจะกำหนดใน พ.ร.บ. หรือประกาศโดยรัฐมนตรีใดก็ตาม เพราะเกินขอบเขตที่กำหนดในปฏิญญาโดฮา เป็นการสร้างข้อจำกัดตัวเองในการใช้สิทธิ
๖. รัฐบาลไม่ควรผูกมัดหรือสร้างพันธกรณีอันเป็นภาระแก่ประเทศ โดยการแก้กฎหมายล่วงหน้า - ก่อนเข้าเป็นภาคีแห่งความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิบัตร เช่น เป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty, PCT) นับเป็นการสูญเสียอธิปไตย (ต้องตัดมาตรา 11 ออก)
๗. ในการแก้ไขกฎหมายทุกครั้ง ต้องให้เหตุผลโดยละเอียดชัดเจน ในทุกประเด็น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนชาวไทยเป็นสำคัญ
๘. เพิ่มเติม “คุณกรรมการสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์” ให้รับรองการพิจารณา วินิจฉัยและดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ ซึ่งทำน้าที่คล้ายคลึงกับคณะกรรมการสิทธิบัตรยาในประราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เนื่องจากการพิจารณาสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน
๙. จัดตั้งกลไกเพิ่มเติมในการตรวจสอบ ผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการสิทธิบัตรและคณะอนุกรรมการ
๑๐. จัดตั้ง กลไกเพิ่มเติมในการติดตามตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม ของคำขอรับสิทธิบัตร โดยมีองค์กรรับผิดชอบหลักคือกรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม
นายสุริยา วิงวอน ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่ารู้สึกไม่เป็นธรรมในการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพราะไม่มีคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชนเลยจึงอยากให้มีภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย