สภาที่ปรึกษาทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้ทำเอฟทีเอกับอียู ตามมาตรา 190 อย่างเคร่งครัด ย้ำต้องไม่รับทริปส์พลัส

ที่ประชุมใหญ่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบร่างความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา” เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว

 

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภคเปิดเผยว่า ทางสภาที่ปรึกษาเข้าใจดีว่า รัฐบาลต้องการที่จะเปิดเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปให้ได้ต้นปีหน้า  แต่เนื่องจากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเป็นการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน และงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทางสภาจึงได้ทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

 

“รัฐบาลต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) กรอบเจรจาฯ อย่างทั่วถึงก่อนเสนอให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 อย่างเคร่งครัด ดังนั้น ขอให้กระทรวงพาณิชย์นำผลการรับฟังความคิดเห็นที่คณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปสู่การร่างกรอบเจรจาฯที่สะท้อนความเห็นที่ผ่านการรับฟังอย่างกว้างขวางมาแล้ว

 

ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศกำหนดให้ (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการ คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิใน ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก กฎหมายไทย หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2555-2559 และความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 เรื่อง “การเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา” เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรป

 

ให้รอผลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพกรณีศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา ที่อยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางในการเจรจาที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

 

และต้องจัดให้มีการศึกษาเปรียบเทียบผลดีผลเสียในภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งสะท้อนสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การคาดการณ์ผลได้กับสหภาพยุโรปซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่เคยศึกษาไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสวัสดิการของเกษตรกร แรงงาน และผู้มีรายได้น้อย”

 

ทางด้านนายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่า การทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปจะส่งผลทางบวกต่อจีดีพีของไทยตามรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อีกทั้งกรมเจรจาฯ ให้เหตุผลที่ต้องเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอียูเพื่อรักษาสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preferences: GSP) ที่ผู้ส่งออกไทยเคยได้รับอยู่และมีโอกาสจะถูกตัดสิทธินี้ในปลายปีหน้าเพราะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง 3 ปีติดต่อกัน คิดเป็น 2,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 79,422 ล้านบาท) อีกทั้งเพื่อนบ้านของไทย     ในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เจรจาใกล้ได้ข้อยุติแล้ว แต่งานวิจัยดังกล่าว ทำก่อนที่อียูจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังหาทางออกไม่ได้ อาจต้องมีการทบทวน

 

“หากดูวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในขณะนี้ ที่อำนาจทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อลดลงอย่างมาก และยังไม่ถึงจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจ รายงานของทีดีอาร์ไอในเชิงตัวเลขผลได้อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ควรใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างอย่างรอบคอบและแม่นยำ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง    ที่มากเกินกว่าความตกลงทริปส์ที่สหภาพยุโรปต้องการมากที่สุด เพียงข้อเรียกร้องเดียวก็จะทำให้ ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นถึง 81,356 ล้านบาท/ปี รัฐบาลของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องระมัดระวังในการเจรจาอย่างยิ่ง”

 

สมาชิกสภาที่ปรึกษายังแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ทราบมาว่า อีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า นายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะมาแวะเยือนประเทศไทย เชื่อว่าจะต้องมาเสนอให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงกรค้าข้ามแปซิฟิค หรือ TPPA ซึ่งรัฐบาลต้องพึงตระหนักอย่างมากเช่นกัน

 

“ในเชิงเนื้อหาของ TPPA อุตสาหกรรมยาข้ามชาติไปสอดไส้ไม่ให้มีการควบคุมราคายา ไม่ให้ต่อรองราคายา ในเชิงกระบวนที่การเจรจาคืบหน้าไปมาก ประเทศไทยที่ไปร่วมกลุ่มทีหลังจะถูกบังคับให้เสียเปรียบอย่างมาก เช่นที่เม็กซิโก และญี่ปุ่นเผชิญอยู่ แต่ยิ่งไปกว่านั้น ข้อตกลงนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อปิดล้อมจีน รัฐบาลจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี”

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน